'นิสสัน-มิตซูบิชิ' ร่วมกันรุ่ง เพิ่มโปรดักต์ใหม่-ลดต้นทุนบริหารธุรกิจในไทย

22 พ.ค. 2561 | 07:18 น.
ครบรอบ 2 ปี ภายใต้การผนึกกำลังของกลุ่มพันธมิตรนิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิชิ ตามแผน ALLIANCE 2022 ที่มีกรอบเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2018-2022 โดยมีเป้าหมายไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ซึ่งหากดูจากผลประกอบการในปีที่ผ่านมาจะพบว่าเมื่อทั้ง 3 แบรนด์รวมตัวกัน ทำให้กลายเป็นพันธมิตรธุรกิจรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดและมียอดขายรวมกันสูงระดับ 10 ล้านคันต่อปี

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ชื่อชั้นของแบรนด์ทั้งมิตซูบิชิ และ นิสสัน ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายอันดับ 4 (69,737 คัน) และอันดับ 5 (59,709 คัน) ตามลำดับ โดยแต่ละปีมีส่วนแบ่งทางการตลาดและยอดขายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีด้วยการผนึกกำลังกันในระดับโกลบัล ทำให้เริ่มเห็นแผนงานและทิศทางที่จะดำเนินงานไปในทางเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ในปีที่ผ่านมา

“ในส่วนของประเทศ ไทยได้มีการดำเนินงานภายใต้ ALLIANCE 2022 ไปบางส่วน อาทิ Joint Transportation การขนส่งสินค้าร่วมกัน, Sale Finance ที่ก่อตั้งมิตซูลีสซิ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากนิสสัน ลีสซิ่ง, Joint Purchasing Cost-Reduction ที่มีการพูดคุยร่วมกันระหว่างทีมวิศวกร เพื่อปรับปรุงและลดต้นทุนในการจัดซื้อจัดจ้าง, Alliance Production Way การจัดการผลิตร่วมกัน” นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว MP33-3268-A

นอกเหนือจากกลยุทธ์ระดับโกลบัลที่กำหนดมาร่วมกันแล้ว ในปี 2561 มิตซูบิชิยังมีแผนงานหลักที่จะผลักดันไปสู่เป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดที่มากกว่า 8% ในปีนี้ และภายใน 4-5 ปีต้องขยับเพิ่มขึ้นสู่ตัวเลข 2 หลัก

“เราเตรียมเปิดตัวเอ็กซ์แพนเดอร์ และโมเดลใหม่อีก 1 รุ่นสู่ตลาด ส่วนรุ่นปรับโฉมและรุ่นตกแต่งพิเศษก็จะได้เห็น และเราจะมีกิจกรรมการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นเรายังลงทุน 200 ล้านบาทในการเปิดฝึกอบรม “Education Academy” ที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ ย่านลำลูกกา ที่จะใช้ฝึกอบรมพนักงานทั้งการขาย การบริการ ศูนย์อะไหล่”

ขณะที่ในระดับโกลบัล มิตซูบิชิทั่วโลก เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานโดยสามารถจำหน่ายรถเพิ่มขึ้น 19% หรือ 1.101 ล้านคัน และตั้งเป้าหมายในปี 2561 ด้วยยอด 1.25 ล้านคันทั่วโลก

“ปีงบประมาณ 2561 ถือเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินงานภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางของบริษัท ในกลุ่มอัลลายแอนซ์ จึงนับว่าเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งและเรายังให้ความสำคัญต่อการขยายธุรกิจและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้คือเป้าหมายของเรา” นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น กล่าว

ถือเป็นความเคลื่อน ไหวจากฟากฝั่งมิตซูบิชิ ขณะที่ฝั่งนิสสัน ล่าสุดได้ประกาศแผนงานที่สอดคล้องกับภาพใหญ่ทั่วโลก อย่างแผนระยะกลาง M.O.V.E 2022 ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวนิสสันมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้าก้าวไปอยู่ 1 ใน 3 และการผนึกกำลังกับพันธมิตรอย่างมิตซูบิชิเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แผนดังกล่าวประกอบไปด้วย M หรือ Mobility หมายถึง นวัตกรรมยานยนต์ ที่เราจะผลิตรถที่ตอบโจทย์ลูกค้า เช่น รถปิกอัพ ซึ่งนิสสันมีหน่วยงาน R&D ที่จะวิเคราะห์ วิจัย เพื่อหาผลิตภัณฑ์ให้ตรงและเหมาะสมกับลูกค้าคนไทยให้มากที่สุด ประการต่อมาคือ O หรือ Operational Excellence ความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราจับมือกับมิตซูบิชิ-เรโนลต์

ข้อที่ 3 คือ V หรือ Value to Customer การให้ความสำคัญกับลูกค้า ทั้งลูกค้าผู้ซื้อรถ ในการให้ประสบการณ์ เพิ่มคุณค่าด้านต่างๆเช่นเดียวกับลูกค้าที่เป็นดีลเลอร์ จะมีการทำงานร่วมกัน และข้อสุดท้าย E หรือ Electrification ตั้งเป้าการเป็นผู้นำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า โดยจะส่งนิสสัน ลีฟ เข้ามาในไทยภายในปีงบประมาณ 2561 นี้

“การผนึกกำลังของ อัลลายแอนซ์ แต่ละแบรนด์ยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นตัวตนของตนเอง มีการทำตลาดที่แตกต่างกัน แต่จะมีคีย์หรือเป้าหมายที่ทำร่วมกัน อาทิ แชร์แพลตฟอร์ม การใช้ซัพพลายเออร์ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนและจะทำให้อัลลายแอนซ์ของเราประหยัดร่วมกันกว่า 1 หมื่นล้านยูโรในปี 2022” นายอันตวน บาร์เตส ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)ฯ กล่าว

จากแผนงานดังกล่าวทำให้ประธานใหญ่ มั่นใจว่าจะสามารถไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี 2561 จะมียอดผลิตเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในปีนี้ นิสสันคาดว่าจะมียอดผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน

“ต้นปีเราเปิดตัวปิกอัพนาวารา 2018 และนิสสัน จีที-อาร์ และภายในสิ้นปีงบประมาณนี้จะมีรถใหม่อย่าง ลีฟ ที่เจาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงเทอร์ร่า ที่แม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดเวลาแน่ชัด รวมไปถึงราคา แต่จะได้เห็นภายในปีนี้แน่นอน ส่วนอี-พาวเวอร์นั้น ได้มีการพูดคุยกับภาครัฐต่อเนื่อง” นายบาร์เตส กล่าว

สำหรับความพยายามของนิสสันเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าถือว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะล่าสุดประธานคณะกรรมการบริหาร ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ประเทศญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียได้เข้าพบกับ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งได้ความว่ารัฐบาลไทยสนใจและแสวงหาความร่วมมือกัน ดังจะเห็นจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งหวังว่าทั้งนิสสันและรัฐบาลจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อนาคตในไทย

...ถือเป็นการขยับของทั้ง 2 แบรนด์ภายใต้กลุ่มอัลลายแอนซ์ 2022 ที่เริ่มมีความชัดเจนและเห็นการผนึกกำลังที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และต้องจับตาการพัฒนารถยนต์เจเนอเรชันใหม่ร่วมกัน โดยใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ เช่น ปิกอัพ พีพีวี รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า ในอนาคต

เซกชั่นยานยนต์ หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ3,368 วันที่ 24-26 พฤษภาคม 2561

e-book-1-503x62-7