ราคาน้ำมันดิบดีดตัว จากสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

10 พ.ค. 2561 | 02:59 น.
ราคาน้ำมันดิบดีดตัว จากสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลง

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน  ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2560

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ส่งผลทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและอุปทานที่อาจจะตึงตัวจากการส่งออกของอิหร่านที่ลดลงหากถูกคว่ำบาตรอีกครั้ง เบื้องต้นนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกจากอิหร่านจะปรับตัวลดลงประมาณ 0.2 - 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้น

+ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่รายงานโดยสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวลดลง 2.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงไปแตะระดับ 434 ล้านบาร์เรล

+ Goldman Sachs ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ ว่าอาจจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 82.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ภายในฤดูร้อนปีนี้

- อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียและคูเวต สองประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ทั้งสองประเทศเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อลดผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนบางส่วนปิดซ่อมบำรุง แต่ยังคงกดดันจากระดับสต็อกที่ยังอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ประกอบกับปริมาณสต็อกน้ำมันดีเซลในประเทศจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 15.8 ในเดือนที่ผ่านมา

oil0510-1 ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาผลกระทบจากการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดลงกำลังการผลิต

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว