บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมลงทุนพัฒนา“สมาร์ทซิตี้”

09 พ.ค. 2561 | 09:17 น.
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทซิตี้” เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้ระบบอัจฉริยะ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสำคัญหลายเรื่องที่จะส่งผลดีต่อประเทศในหลายมิติ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ

boi

ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน กิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในด้านคมนาคมขนส่ง (Smart Mobility) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (Smart People) ด้านความปลอดภัย (Smart Living) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (Smart Economy) ด้านบริการจากภาครัฐ (Smart Governance) และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Smart Energy & Environment)

โดยการส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะส่งเสริมแก่ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ เช่น Fiber Optic, Public Wifi ด้านการบริหารจัดการข้อมูล (Open Data Platform) และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energyและ

2. ให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้านข้างต้น โดยทั้งสองกิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี (มูลค่ายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนใน 6 ด้าน จึงให้ส่งเสริมแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการเป็นเมืองอัจฉริยะ และให้ส่งเสริมนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนระบบต่างๆ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน อาทิ มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีความเท่าเทียมกันในสังคมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจและการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แบ่งเป็น 1. หากลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี 2. หากลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) นอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 12 ปี

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว