บีซีพีจีตั้ง CODE ลุยพลังงานดิจิตอล

08 พ.ค. 2561 | 12:06 น.
บีซีพีจีตั้งหน่วยงานใหม่ “CODE” ลุยธุรกิจพลังงานดิจิตอล รองรับเทรนด์อนาคต ประชาชนผลิตไฟฟ้าเองขายเองสร้างรายได้เพิ่ม โชว์แผน 3 ปีเตรียมทุ่ม 1 หมื่นล้าน เน้นซื้อกิจการพลังงานในต่างประเทศ

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ของบริษัท ได้อนุมัติการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของบีซีพีจี ที่ชื่อ CODE (Center of Digital Energy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจพลังงานดิจิตอล (Digital Energy) จากบีซีพีจีมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานสะอาด ในโลกของ distributed energy ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และผลตอบแทนดี ทั้งนี้เนื่องจากปัจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าในลักษณะการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้รับผลตอบแทนเรื่องค่าไฟฟ้าที่ลดลง ขณะที่ทิศทางในอนาคตประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจากพลังงานหมุนเวียนและจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายให้ให้กับผู้อื่นได้เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งบริษัทจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี

bcpg

 

รายงานจากบีซีพีจีระบุว่า จัดตั้งหน่วยงานใหม่ดังกล่าวอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้ง ซึ่งโครงสร้างองค์กร และวัตถุประสงค์หลัก ๆ ในการจัดตั้งจะได้เปิดเผยในโอกาสต่อไป ขณะที่ความคืบหน้าความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ในโครงการ Smart Park ซึ่งตั้งอยู่ในเขตธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองพื้นที่ 1,500 ไร่ กำลังผลิตไฟฟ้า 100-200 เมกกะวัตต์ โดยระยะเวลาในการสร้างประมาณ 2-3 ปี คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปลายปีนี้ (2561) และจะแล้วเสร็จในราวปี 2564 ซึ่งจะใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองรับอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่ม New S-Curve โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล

ความร่วมมือดังกล่าว ยังอยู่ในช่วงการศึกษาเพื่อสรุปแนวทางการลงทุน โดยบีซีพีจีและพันธมิตรจะทำการลงทุนในธุรกิจกิจพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งบีซีพีจีและพันธมิตรมีความพร้อมในการลงทุนทั้งทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดอย่างสูงสุด และมีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับความร่วมมือกับกนอ.ในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนขยายธุรกิจ 3 ปี ของบริษัทฯ ซึ่งจะมีการลงทุนขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อยู่ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ทั้งจากธุรกิจรูปแบบปัจจุบันหรือ Wholesale หรือธุรกิจรูปแบบใหม่หรือ Retail ซึ่งในปี 2561 บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 200 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 600 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 โดยวางแผนไว้ว่า170 เมกะวัตต์จะมาจากธุรกิจ Wholesale ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอีก 30 เมกะวัตต์ จะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่เป็น Retail ผ่านธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในประเทศ ในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ดีบริษัทได้ตั้งงบเงินลงทุน 3 ปี (2561-2563) ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 การลงทุนส่วนใหญ่ (ประมาณ 7,000 ล้านบาท) จะเน้นการเข้าซื้อกิจการพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ retail กับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯมี Investment Capacity อยู่ประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว