นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางเที่ยวไทยปี61อาจหดตัวจากศก.และการแข่งขัน

06 พ.ค. 2561 | 03:56 น.
ตลาดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางเที่ยวไทยปี 2561 อาจหดตัวจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการแข่งขัน

ท่ามกลางภาพรวมของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยที่เติบโตดี แต่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่จำนวนนักท่องเที่ยวหลายประเทศเดินทางมาเที่ยวไทยหดตัวลง จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 1.87 แสนคน หดตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศ

สำหรับทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้คาดว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่เนื่องจากยังมีปัจจัยเฉพาะที่ยังคงต้องติดตามอย่างความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม GCC ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจและภาระรายจ่ายในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และอาจจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ สถานการณ์ค่าเงินเรียล (Rial) ของอิหร่านที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอลง

ktb-lo

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางอาจจะยังติดลบในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่า ในปี 2561 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางเที่ยวไทยจะมีจำนวนประมาณ 7.57-7.79 แสนคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.2 ถึงร้อยละ 1.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในปี 2560 สำหรับรายได้ในด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยคาดจะมีมูลค่าประมาณ 6.06-6.25 หมื่นล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 2.1 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.0 จากที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในเอเชีย ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า

ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยมีจำนวนประมาณ 7.90 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวไทยทั้งหมด ขณะที่การใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยมีมูลค่าประมาณ 6.19 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3.4 ของรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีความหลากหลายทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน ซึ่งจะมีการใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยที่สูงโดยเฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทคนต่อทริป ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางท่องเที่ยวในไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง ซึ่งการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมีทั้งเพื่อการพักผ่อนและการเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางท่องเที่ยวไทยหลายประเทศ มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทย ดังนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2561 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศยังหดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ต้นปี 2561 ท่ามกลางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจากหลายภูมิภาคมีการเติบโตดี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยกลับมีจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องมาจากในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 1.87 แสนคน หดตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยมีมูลค่าประมาณ 1.40 หมื่นล้านบาท ซึ่งหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ktb

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นรายประเทศ พบว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยที่มีการหดตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อิหร่าน โอมาน และจอร์แดน เป็นต้น ซึ่งการหดตัวของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางเที่ยวไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศอื่นๆ

สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ชะลอตัวมีความหลากหลาย แต่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในหลายประเทศ อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับต่ำมานานส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกน้ำมันของหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยังผลต่อเนื่องมายังงบประมาณต่างๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ หลายประเทศในกลุ่มประเทศ GCC (ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ บาร์เรน และคูเวต) ได้มีแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยหนึ่งในแผน คือ การปรับโครงสร้างภาษีภายในประเทศซึ่งมีผลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจและการบริโภคในประเทศ เห็นได้ว่า ในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ร้อยละ 5.0 เป็นครั้งแรก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม GCC มีแผนที่จะใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าเช่นกัน

ขณะเดียวกันประเทศซาอุดีอาระเบียยังได้มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ปรับเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 80-120 ต่อลิตร นอกจากนี้ยังรวมถึงค่าไฟฟ้าในประเทศเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปรับลดการอุดหนุนและการปรับลดงบประมาณขาดดุลในปี 2561 นี้ และผลจากการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มสะท้อนผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจอย่างดัชนีภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่อ่อนตัวลงจากปลายปีที่ผ่านมา

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเหล่านี้บางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ โดยเมื่อพิจารณากลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง การเดินทางส่วนใหญ่เป็นการเดินทางเป็นครอบครัวทำให้ค่าใช้จ่ายต่อทริปค่อนข้างสูง
ktb1

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยที่ยังเติบโตได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวจากประเทศอิสราเอล และคูเวต เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศคูเวตจะหดตัวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากคูเวตเที่ยวไทยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงกว่านักท่องเที่ยวจากหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ กอปรกับประเทศคูเวตยังไม่เริ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ

ในช่วงที่เหลือของปี 2561 ตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยยังเผชิญความท้าทายหลายประการ

สำหรับทิศทางนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2561 นี้ จากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ปรับขึ้นร้อยละ 24.2 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2560 ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม GCC ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจและภาระรายจ่ายในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และอาจจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ค่าเงินเรียลของอิหร่านที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ประเทศอิหร่านเผชิญกับปัญหาเฉพาะ คือ วิกฤติค่าเงินเรียล (Rial) ที่อ่อนค่าลงไปประมาณร้อยละ 35.0 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องมาจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ ที่อาจจะมีการคว่ำบาตรการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้ออกมาตรการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเรียลไว้ที่ 42,000 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากสถานการณ์ค่าเงินเรียลยังมีความผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอิหร่านรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวอิหร่านชะลอลง ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวอิหร่านเที่ยวไทยนับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.4 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยทั้งหมด

จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2561 นี้ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 7.57-7.79 แสนคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.2 ถึงร้อยละ 1.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในปี 2560 สำหรับรายได้ในด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.06-6.25 หมื่นล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 2.1 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ในปี 2560 โดยตลาดที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี คือ นักท่องเที่ยวจากอิสราเอล ขณะที่นักท่องเที่ยวจากคูเวตน่าจะยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากแผนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศอาจจะล่าช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในปีหน้า

ktb2

จากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจากประเทศในตะวันออกกลางเดินทางท่องเที่ยวในไทย มีแนวโน้มที่อาจจะลดลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่จับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม ของทุกปี จะเป็นเดือนที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมากเนื่องจากเป็นช่วงของการปิดภาคการศึกษา เพื่อนำมาปรับวางแผนการตลาดลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อาจมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเที่ยวไทยแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องติดตาม คือ การแข่งขันด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ที่ต้องการจับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแผนที่จะพัฒนาดูไบให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Health and Wellness) ระดับโลก โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายอันดับต้นๆ คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจจะมีผลต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องของไทยได้เช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาในไทยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

e-book-1-503x62