เขต ศก.ชายแดน ปลุกชีพเชื่อมอีอีซี

03 พ.ค. 2561 | 10:32 น.
030561-1720

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนพลิกแผน! เชื่อมโยงอีอีซี เอื้อแหล่งผลิต-แรงงาน-ท่องเที่ยว ... "ชายนิด-หมอเสริฐ" ชงขยายสนามบินตราด ด้าน แม่สอดเจอดีปั่นราคาที่พุ่งไร่ละ 30 ล้านบาท ... 'บิ๊กตู่' เดินหน้าดัน แม่สอด-อรัญฯ-สะเดา แจ้งเกิด

นักลงทุนเริ่มคึกคัก ราคาที่ดินถูกปั่นสูงหลายตลบ นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้น 10 จังหวัด เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน และเมื่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลับเงียบลง


GP-3362_180503_0018

ที่แม่สอดค้างเติ่งไร่ละ 30 ล้าน
นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ตาก (อ.แม่สอด-พบพระและ อ.แม่ระมาด) เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ได้เร่งรัดพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ จนใกล้จะแล้วเสร็จ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมถนนเชื่อมต่อกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการอาคารสำนักงานด่านพรมแดน คลังสินค้าและศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service : OSS สนามบินนานาชาติแม่สอด เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท และยังจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง

ในส่วนการลงทุนของภาคเอกชน ในภาคอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม และอื่น ๆ นั้น ถือว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ยังมีน้อยมาก เหมือนจะสวนทางกัน เพราะนักธุรกิจ นักลงทุน ยังไม่มั่นใจในนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนหลายอย่าง เช่น ผังเมือง ที่ติดปัญหาพื้นที่สีเขียวและสิทธิประโยชน์ และปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เป็นต้น


MP21-3330-A

"ช่วง 2-3 ปีนี้ ราคาที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก การซื้อขายไม่ขยับมา 2-3 ปีแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ มีการปั่นราคาที่ดินจนสูงขึ้นมากเกินกว่าที่นักธุรกิจ นักลงทุนจะเข้ามาซื้อ เพื่อลงทุนได้"

ขณะที่ แหล่งข่าวแวดวงการค้าที่ดินใน อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ที่ดินสายหลักอย่างถนนสายเอเชีย บริเวณแถวโรบินสัน จากเดิมราคาไร่ละ 7-8 ล้านบาท ถูกปั่นราคาขึ้นถึงไร่ละ 25-30 ล้านบาท จากนั้นก็หยุดนิ่งไม่มีความเคลื่อนไหว ส่วนถนนดำ (ทางหลวงชนบท) ราคาไร่ละ 8-13 ล้านบาท และส่วนใหญ่อยู่ในมือรายใหญ่ หรือไม่ก็พวกคนรวยที่ไม่มีความเดือดร้อน


MP21-3330-2A

เมืองกาญจน์ดิ้น
ด้าน จ.กาญจนบุรี ได้จัดพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ระยะที่ 2 ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ สิทธิประโยชน์จากบีโอไอจะต้องลงทุนใน 10 จังหวัด และต้องอยู่ในตำบลและอำเภอที่กำหนด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก 5 ปี รวมถึงการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 18 พ.ค. 2561 จะมีการเปิดให้นักลงทุนยื่นซองเสนอการลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษท้องที่บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พื้นที่ 22,979 ไร่ ที่กรมธนารักษ์

 

[caption id="attachment_278593" align="aligncenter" width="500"] เศกสรรค์ เรืองโวหาร ผู้อำนวยการกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เศกสรรค์ เรืองโวหาร
ผู้อำนวยการกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)[/caption]

นายเศกสรรค์ เรืองโวหาร ผู้อำนวยการกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 พ.ค. 2561 นี้ บีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน จ.กาญจนบุรี จัดสัมมนา หัวข้อ "บีโอไอกับการเพิ่มศักยภาพการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0" โดยให้ข้อมูลถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่น ๆ


นักลงทุนเมินมุกดาหาร
นายภมร เชาว์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า กรมธนารักษ์เปิดประมูลที่ราชพัสดุให้กับนักลงทุน 2 ครั้ง แต่ไม่มีนักลงทุนสนใจ คาดว่าจะเปิดอีกเป็นครั้งที่ 3 ทั้งนี้ เหตุผลที่นักลงทุนไม่สนใจ เนื่องจากไม่มีตัวแปรจูงใจที่ดี

 

[caption id="attachment_278594" align="aligncenter" width="503"] ชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ชายนิด อรรถญาณสกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)[/caption]

ตราดปรับแผนโยงอีอีซี
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังได้สัมปทานที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ จำนวน 895 ไร่ ล่าสุด อยู่ระหว่างปรับแผนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.ตราด เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี คือ การขยายสนามบิน จ.ตราด ให้เป็นสนามบินอินเตอร์ ล่าสุด น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจรจากับรัฐบาล เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ลงมือพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานรัฐเพิ่งดำเนินการ

นายประมวล เขียวขำ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า พื้นที่สระแก้วเชื่อมโยงในโครงการอีอีซีได้ เนื่องจากมีรอยต่อติดกัน รวมทั้งแม่สอดก็สามารถช่วยเหลือเรื่องแรงงานและเป็นพื้นที่ผลิตป้อนอีอีซี โดยผ่านเส้นทางโครงการพื้นฐานทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศที่รัฐลงทุนให้

 

[caption id="attachment_278596" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี[/caption]

'บิ๊กตู่' ดัน 3 พื้นที่ไฮไลต์
แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดให้ 3 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่เร่งด่วน ได้แก่ แม่สอด จ.ตาก อรัญประเทศ และสะเดา จ.สงขลา พร้อมทั้งขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม ที่ ต.ป่าไร่ แต่ยอมรับว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษค่อนข้างเงียบ แต่อยากให้มองว่า อีอีซีจะเน้นอุตสาหกรรมไฮเทค-หุ่นยนต์ แต่เขตเศรษฐกิจชายแดน เน้นเรื่องแรงงาน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกัน แต่ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกสามารถเชื่อมโยงกันได้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายอีอีซี ตามที่รัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ ซึ่งปัจจุบันประมูลทั้งหมดแล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,362 วันที่ 3-5 พ.ค. 2561 หน้า 01+15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“สนธิรัตน์” ย้ำตั้ง “สนธยา” มาช่วยอีอีซี “ไม่ได้ดูดนักการเมือง” เผยตั้งพรรคอยู่ขั้นหารือ
กนอ.จัดสรรพท.รับดีมานด์อีอีซีสู่เขตส่งเสริมอุตฯคาดเงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว