JBIC เยี่ยมนายกฯ ถก EEC "ประยุทธ์" ยินดีความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

03 พ.ค. 2561 | 10:05 น.
กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

- 3 พ.ค. 61 - นายทะดะชิ มะเอะดะ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

กรรมการผู้อำนวยการ JBIC รายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลักดันโครงการต่างๆ ภายใต้ EEC เช่น โครงการระบบรางต่างๆ โดยเน้น Triple WIN คือ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งไทย ญี่ปุ่น และจีน โดยจะเป็นโครงการแรกที่ญี่ปุ่นและจีนจะทำงานร่วมกัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่าญี่ปุ่นและจีนมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการแรก ซึ่งจะส่งผลดีต่อความร่วมมือในภูมิภาค 20180503103639

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณที่ JBIC จะช่วยทำการศึกษา Smart City ใน EEC ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา EEC ในภาพรวม และขอให้ JBIC หารือกับกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการ EEC อย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้ทั้ง 2 โครงการมีความคืบหน้า และย้ำว่าไทยยินดีสนับสนุนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของ EEC เพิ่มเติม

กรรมการผู้อำนวยการ JBIC กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะส่งผู้แทนระดับสูงมาเข้าร่วมในการประชุมสุดยอด ACMECS ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2561 ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ CLMVT ในสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการประกาศแผนแม่บท ACMECS ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่

1.การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค

2.การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ACMECS

และ 3. การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม 20180503103640

นายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ JBIC แบ่งปันประสบการณ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับในโครงการต่างๆ ที่ JBIC มาร่วมลงทุน เนื่องจากปัจจุบันการประชาสัมพันธ์และการรับรู้ของภาคประชาชนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในทุกโครงการและการพัฒนาพื้นที่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่ JBIC ที่ช่วยประสานงานการประชุม High Level Joint Commission (HLJC) ครั้งที่ 4 ในเดือนกรกฎาคม อีกทางหนึ่ง ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วม โดยไทยมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับ CPTPP โดยขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยศึกษาผลกระทบที่อาจมีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยา ตลอดจนช่วยติดตามความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และการลงทุนในระบบขนส่งทางรางเส้นทางอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร 20180503104848