MOU 4 หน่วยงานลุย “สัตหีบโมเดล” ดึงมหา’ลัยเปิดคอร์สสั้นคนตกงาน

02 พ.ค. 2561 | 13:39 น.
สำนักงานอีอีซี จับมือสำนักงานอาชีวะ-สกอ.-บีโอไอ ทำเอ็มโอยูผลิตแรงงานป้อน EEC หวังดึงมหาวิทยาลัยเปิดคอร์สระยะสั้นอบรมคนตกงาน เล็งขยายเฟส 2 ปั้นคนในพื้นที่อีสาน

- 2 พ.ค. 61 - นายวัชรินทร์ ศิริพาณิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตกำลังคน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในโครงการ 'สัตหีบโมเดล' หรือ การยกระดับอาชีวะในพื้นที่เขคเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ค. นี้ สกรศ.จะลงนามบันทึกความเข้าใจข้อตกลงร่วมมือ หรือ เอ็มโอยู ร่วมกับอีก 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยมี นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม และมี 12 วิทยาลัย ที่ร่วมนำร่องสัตหีบโมเดลเข้ามาเป็นสักขีพยานด้วย

โดยเนื้อหาของเอ็มโอยู จะเป็นการสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนภายใต้แนวคิดสัตหีบโมเดล ซึ่งการเพิ่มสกอ.เข้ามามีส่วนร่วมเพราะอนาคตสำนักงานอีอีซีจะจับมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งบางแห่งอาจจะเปิดหลักสูตรที่ไม่ใช่ปริญญาเพื่อผลิตคน เช่น ปัจจุบันมีคนตกงานจำนวนมาก มหาวิทยาลัยต้องดึงคนเหล่านั้นเข้ามาอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น 3-6 เดือน เพื่อให้เขามีทักษะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องดึงการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด

ในส่วนของการแสวงหาความร่วมมือระหว่าง 12 วิทยาลัย กับเอกชนนั้น จะเป็นลักษณะของการจับคู่ เช่น เอกชนรายไหนต้องการแรงงานด้านเครื่องกล เครื่องยนต์ ก็จะจับคู่กับวิทยาลัยที่สอนด้านเครื่องกล เครื่องยนต์ โดยจับคู่ให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสได้เจอและหารือร่วมกัน ภายใต้แนวคิดต้องวินวินทั้งสองฝ่ายไม่เอาเปรียบกันและกัน ซึ่งขณะนี้สกรศ. ประสานกับบีโอไอเพื่อขอรายชื่อเอกชนที่เข้ามาลงทุน เพื่อนำมาเป็นบัญชีข้อมูลการจับคู่กับวิทยาลัยนำร่องของสัตหีบโมเดลที่เปิดการเรียนการสอนหลากหลายสาขา

“ทำแบบนี้ วิทยาลัยเองก็จะได้ไม่ต้องเปลืองงบประมาณในการผลิตคนในสาขาที่เรียนจบออกไปแล้วเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ เด็กนักเรียนเองก็จะได้เรียนในสาขาที่เรียนจบแล้วมีงานรองรับ ส่วนเอกชนเองก็จะได้มีส่วนร่วมในการผลิตคนตามที่ต้องการ” นายวัชรันทร์ กล่าว

สำหรับเม็ดเงินงบประมาณโครงการสัตหีบโมเดล นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสกรศ. จำนวน 500 ล้านบาท  โดยในจำนวนนั้นจะมีการตั้งงบเพื่อสนับสนุน 12 วิทยาลัย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการให้งบประมาณเหมือนที่กระทรวงศึกษาธิการให้ โดยวิธีการคือจะให้งบฯไปส่วนหนึ่งก่อน เมื่อให้ดำเนินการแล้วจะพิจารณาจากผลงาน ถ้าผลงานดีตรงตามเป้าหมายก็จะให้งบสนับสนุนเพิ่ม แต่หากผลงานไม่ดีก็จะตัดงบประมาณ

“สเต็ปต่อไปถ้า 12 วิทยามีความเข้มแข็งแล้ว เขาก็จะไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับวิทยาลัยอื่นๆ เปรียบเหมือนกับครู ก ไปสอนครู ข เพราะหลังจากจบเฟสแรก 12 วิทยาลัย มีแนวคิดที่จะขยายวิทยาลัยให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกมากขึ้นและจะขยายไปยังพื้นที่ภาคอีสานด้วย เพราะเชื่อว่านักเรียนที่จบจากภาคอีสานมาจะมาทำงานที่อีอีซี”