เคเอสแอลดิ้นตั้งโรงงานน้ำตาล งัดคำสั่งศาลสู้หลัง ‘บิ๊กตู่’ เบรกลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

26 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
น้ำตาลขอนแก่นฮึดสู้ตั้งโรงงานน้ำตาลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลัง"ประยุทธ์"เบรกการลงทุน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ห่าง 50 กิโลเมตร งัดคำสั่งศาลปกครองขึ้นมาค้านให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ระยะห่าง ยันต้องการสนับสนุนการลงทุนตามนโยบายรัฐบาล ไม่มีปัญหาแย่งอ้อย ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ยอมรับมีปริมาณอ้อยล้น จี้หาทางออกให้เกษตรกร

[caption id="attachment_28071" align="aligncenter" width="400"] ชลัช ชินธรรมมิตร์ ชลัช ชินธรรมมิตร์800[/caption]

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีมติไม่อนุมัติการลงทุนของบริษัท โดยไม่ให้มีการย้ายโรงงานน้ำตาลทราย จากจังหวัดชลบุรี มาตั้งยังตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากที่ประชุมได้ยึดระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร แต่โรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่จะย้ายมาลงทุนมีรัศมีห่างจากโรงงานที่มีอยู่เดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว ทางบริษัทคงต้องมาหาทางออก เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ดังกล่าว เพราะถือเป็นโครงการแรกที่มีความชัดเจนของภาคเอกชนที่จะเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบกับสามารถป้อนไฟฟ้าให้กับพื้นที่รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย เนื่องจากการตั้งโรงงานน้ำตาล ขนาด 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จะมีการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานเอทานอลควบคู่ไปด้วย ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมแผนการปลูกอ้อยไว้ตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตรงตามเงื่อนไขที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมีคู่สัญญาไม่ต่ำกว่า 50 %

สำหรับทางออกเรื่องนี้ ทางบริษัทจะหยิบยกข้อกฎหมายขึ้นมาหารือ เนื่องจากก่อนหน้านี้ 3-4 ปี บริษัทได้มีการฟ้องศาลปกครองถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายที่กำหนดไว้ต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลทรายเดิม 80 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เพราะมีการให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลบางรายไป ทั้งที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้ว มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการยกเลิกระยะห่างดังกล่าว แต่ก็มีการดึงเรื่องและเวลามาจนนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ลดระยะห่างลงมาเหลือเพียง 50 กิโลเมตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้พิจารณาตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งออกมา

นายชลัช กล่าวอีกว่า การที่ภาครัฐไม่อนุมัติให้ย้ายโรงงานน้ำตาลครั้งนี้ จะส่งผลให้ชาวไร่ที่ปลูกอ้อยปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านตันอ้อย เกินกว่าปริมาณกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมได้ ซึ่งเป็นผลจากที่บริษัทได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกส่วนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการผู้ขาดของโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ในการที่จะรับอ้อยเข้าหีบ และจากปริมาณอ้อยที่ล้นอยู่นี้ ทำให้ชาวไร่ต้องขนส่งอ้อยไปยังพื้นที่อื่น เช่น ระยอง ชลบุรี บุรีรัมย์ อีสานตอนล่าง ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจริง ควรจะกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะหลักเกณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในระยะ 50 กิโลเมตรจากโรงงานเดิมก็เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยเข้าหีบ ขณะที่ปัจจุบันปริมาณอ้อยล้นเป็นจำนวนมาก และบริษัทก็มีคู่สัญญาที่แน่นอน จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาการแย่งอ้อยเกิดขึ้น และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการลงทุนขึ้นจริง

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) เปิดเผยว่าในการประชุม(กนพ.) ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเข้าร่วมเพื่อหาทางออกต่อกรณีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่เกรงว่าปริมาณอ้อยจะล้นกำลังผลิต แต่ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่า จะต้องให้ความเป็นธรรมกับโรงงานน้ำตาลรายเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งวัตถุดิบกัน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล และไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นเกี่ยวกับระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล

ด้านนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่ขอย้ายมาตั้งในจังหวัดสระแก้ว มีระยะห่างไม่เข้าตามเกณฑ์กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด จึงไม่สามารถตั้งได้ อย่างไรก็ดีในฐานะจังหวัดจะต้องหาทางแก้ปัญหา ปริมาณผลผลิตจากการปลูกอ้อยที่เกิดขึ้นกว่า 4 แสนไร่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีโรงงานแห่งใหม่มารองรับเพิ่ม เพราะโรงงานเก่าที่มีอยู่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพียง 2.4 หมื่นตันต่อวันเท่านั้น จะทำให้ผลผลิตของการปลูกอ้อยของเกษตรกรต้องล้นตลาดแน่นอน ซึ่งคงต้องมีการหารือแก้ปัญหาต่อไป ส่วนที่ดินของโรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่ผ่านมาได้ซื้อไว้นานแล้วน่าจะไม่มีผลกระทบอะไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559