ผลสำรวจ“ความในใจของแรงงานไทย 4.0”อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิดถึง62.3 %

01 พ.ค. 2561 | 03:37 น.
ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 64.3 % ทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดย 59.6% ได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่ 52.7% รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆปี แต่ 39.9% ระบุว่ายังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ยืม โดยส่วนใหญ่ 85.5% กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้น แรงงานส่วนใหญ่ 62.3 % อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด วอนนายจ้างอยากให้เพิ่มค่าแรงรายวันให้มากขึ้น

เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 308- 330 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ

Info_864

เมื่อถามต่อว่าได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปี ติดต่อกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้

ทั้งนี้เมื่อถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม

สำหรับเรื่องที่กังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกันพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.1 กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปทั่วทุกภูมิภาค ทำให้อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.3 อยากกลับ ขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่อยากกลับ โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการดีกว่า (ร้อยละ 43.4) รองลงมาคือ มีงานให้เลือกน้อย (ร้อยละ41.4) และชอบอยู่กทม.และปริมณฑลมากกว่า (ร้อยละ 37.2)

สุดท้ายเมื่อถามถึงความในใจที่อยากบอกกับนายจ้างพบว่า เรื่องที่อยากบอกนายจ้างมากที่สุดคือ อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น (ร้อยละ 35.0) รองลงมาคือ อยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 17.1) และอยากให้มีงานจ้างทุกวัน (ร้อยละ 13.8)

e-book-1-503x62