ขึ้นแน่! ไข่ไก่หน้าฟาร์ม 9 เม.ย.นี้ ปรับขึ้น 2.40 บาท

06 เมษายน 2561
ขึ้นแน่! ไข่ไก่หน้าฟาร์ม 9 เม.ย.นี้ ปรับขึ้น 2.40 บาท

นายชัยพร สีถัน แกนนำกลุ่มชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย จากพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ณ วันที่ 6 เมษายน 2561 ราคาอยู่ที่ 2- 2.20 บาท/ฟอง จากผลการประชุมใหญ่เครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ "ร่วมแรงร่วมคิดแก้วิกฤติไก่ไข่” (วันที่ 4 เม.ย.61) ที่ผ่านมานั้น นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ " จะปรับราคาไข่ไก่เป็น 3 ระดับ ระดับละ 20 สตางค์ โดยจะเริ่มปรับในวันที่ 9 เมษายน 2561 ราคาอยู่ที่ 2.40 บาท ส่วนในวันที่ 16 เมษายน จะปรับราคาเพิ่มให้อีก 0.20 บาท และวันที่ 23 เมษายน ราคา 0.20 บาท โดยมีเป้าหมายที่ราคา 2.80 บาท/ฟอง

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการนำเสนอแผนลดพ่อแม่พันธุ์ไข่ไก่ (พีเอส) ลดลงเหลือ 5.5 แสนตัว แต่จะมีเป้าหมายแนวโน้มลดลงอีก 5 แสนตัว อีกด้านจะเพิ่มปริมาณการส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศ จาก 50 ตู้ต่อเดือนเป็น100 ตู้ต่อเดือน ภายในระยะเวลา 3เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน เพื่อช่วยดึงราคาไข่ไก่ให้เกษตรกรพ้นภาวะจากการขาดทุน
egg1 ขณะที่ นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยทั่วประเทศ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำต่อเนื่อง เพราะปริมาณไข่ไก่ล้นตลาด ต้องการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบ ลดจำนวนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ ปลดแม่ไก่ยืนกรงของบริษัทรายใหญ่ และลดการนำเข้าจาก 6 แสนตัวต่อปี ให้เหลือ 3-4 แสนตัวต่อปี แต่ปริมาณไข่ไม่ลดปริมาณลง สาเหตุหลักมาจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจัง นั้น ทางกรมขอชี้แจงว่า ในฐานะที่กรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนานโยบายไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ปี 2561 โดยจัดประชุมผู้ประกอบการบริษัทรายใหญ่ 16 บริษัท (นำเข้าและเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่จำนวน 1 ราย นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จำนวน 16 ราย) รวม 7 ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำต่อเนื่อง โดยระยะสั้นกำหนดให้บริษัทและฟาร์มรายใหญ่ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงอายุไม่เกิน 72 สัปดาห์ ไปแล้วจำนวน 811,059 ตัว เพื่อลดปริมาณผลผลิตไข่ไก่ลง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ปศุสัตว์เขตร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ของทั้ง 16 บริษัทรายใหญ่

egg

"พบว่าปริมาณปู่ย่าพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่อยู่ในระยะให้ผลผลิต มีปริมาณที่เหมาะสมสอดคล้องกับมติคณะกรรมการพัฒนานโยบายไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ โดยที่ในปี 2561 นี้ กรมปศุสัตว์ตกลงกับบริษัทรายใหญ่ทั้ง 16 รายให้มีการลดการนำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ไม่เกิน 550,000 ตัว และปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ไม่เกิน 4,500 ตัว ซึ่งกรมปศุสัตว์จะติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ในส่วนการขยายการเลี้ยงของฟาร์มขนาดใหญ่นั้น หากมีการขยายฟาร์มไก่ไข่แห่งใหม่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 300,000 ตัวขึ้นไป จะต้องมีแผนการตลาดและแผนธุรกิจที่ชัดเจนรองรับ"

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งสำรวจฟาร์มไก่ไข่ที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 10,000 ตัวขึ้นไป เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนจัดการผลผลิตไข่ไก่ และล่าสุด กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือให้บริษัทรายใหญ่ทั้ง 16 ราย ส่งออกไข่ไก่ที่ผลิตจากฟาร์มของตนเอง ไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามแผนปฏิบัติการ “PS support” โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือส่งออกไข่ไก่เพิ่มไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จำนวน 50 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน (16 ล้านฟองต่อเดือน) ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2561) โดยจะตรวจสอบและประเมินผลทุกเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าราคาไข่น่าจะปรับสูงขึ้นช่วงกลางเดือนเมษายน 61 นี้ ซึ่งการที่กรมปศุสัตว์จะสามารถดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่อย่างต่อเนื่องได้นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยเป็นสิ่งสำคัญ

e-book-1-503x62