อุ้มทุนจีนฮุบไฮสปีด! รัฐหวั่นขัดกฎหมาย ส่งกฤษฎีกาตีความปลดล็อก พ.ร.บ.ฮั้ว

05 เม.ย. 2561 | 08:47 น.
050461-1317

หวั่น พ.ร.บ.ฮั้ว กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกระทบทุนจีนแข่งประมูลรถไฟความเร็วสูง เหตุเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ เข้าข่ายมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมกัน สำนักงานอีอีซีเร่งส่งกฤษฎีกาตีความ

แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติ ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 50 ปี พร้อมกับมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ออกประกาศทีโออาร์ เพื่อเชิญชวนเอกชนร่วมประมูลโครงการภายในเดือน เม.ย. นี้ แต่การที่เอกชนจีน ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมประมูลจำนวนมาก อาจขัดกับกฎหมายไทย


TP11-3330-1

เหตุรัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้ทำหนังสือขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ‘ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา’ ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี โดยแสดงความเป็นห่วงกรณีบริษัทจีนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการจำนวนมาก อาจเข้าข่ายข้อห้ามตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว

เนื่องจากบริษัทเอกชนจีนที่สนใจเข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูง เช่น ไชน่า เซาธ์ โลโคโมทีฟ แอนด์ โรลลิ่ง สต็อก, บริษัท China North Railway Corporation (CNRC), บริษัท ไชน่า ซีวีล เอ็นจีเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางซุน เวลเวย์ วีฮิเคิล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเข้าข่ายต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ และ พ.ร.บ.ฮั้ว ที่กำหนดลักษณะผู้ยื่นข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ที่ได้รับการคัดเลือกต้องไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือ ขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือ สมยอมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือ เจ้าหน้าที่ในการเสนอราคา หรือ ส่อว่ากระทำการทุจริตอื่นใดในการเสนอราคา


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ร.ฟ.ท. รอฝ่ายกฎหมายสรุป
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยอมรับกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฝ่ายกฏหมายของ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างการพิจารณากรณีที่ผู้รับจ้างฝ่ายจีนหลายบริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย แต่อาจขัดกับกฎหมายไทยอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนกรณีที่จะนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้ประกาศ ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการอีอีซี จะพิจารณาตามเห็นสมควรต่อไป

ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บัญญัติว่า ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากคณะกรรมการนโยบายเห็นว่า กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ คำสั่งใด ก่อให้เกิดความไม่สะดวก หรือ ล่าช้า มีความซ้ำซ้อน หรือ เป็นการเพิ่มการดำเนินการโดยไม่จำเป็น หรือ มีปัญหา หรือ อุปสรรคอื่นใด ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ คำสั่งดังกล่าว หรือ มีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ


02-3354

เชื่อไม่ขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการลงทุนภายในอีอีซี เป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และ พ.ร.บ.ร่วมทุน แต่ต้องจัดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกที่มีข้อกำหนดให้ผู้ซื้อไม่ขัดขวางอย่างเป็นธรรม หรือ Self Declaration ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล

“การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ฮั้ว หรือ ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุม ซึ่งนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ขอนำเรื่องหารือต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าใจว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา แม้ว่าบริษัทจีนที่มาประมูลจะเป็นรัฐวิสาหกิจ” นายเอกนิติ กล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

‘ซีพี’ ผนึกทุนญี่ปุ่น-จีน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี จะจับมือกับกลุ่ม Itochu ยักษ์ใหญ่ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และบริษัท ไชน่า เซาธ์ โลโคโมทีฟ แอนด์ โรลลิ่ง สต็อกฯ หรือที่รู้จักกันในอีกนามว่า ‘ไชน่า เซาเธิร์น เรลเวย์’ หรือ ซีเอสอาร์ คอร์ป ผู้ผลิตหัวจักรรถไฟที่ใช้ระบบไฟฟ้าและระบบเครื่องดีเซล และรถไฟความเร็วสูงที่สามารถวิ่งได้ที่ความเร็วระดับ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์ ไฮสปีด’ มีผลงานในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ สัญญาส่งมอบหัวรถจักรไฟฟ้า 95 คัน ให้กับประเทศแอฟริกาใต้ในปี 2012 และสัญญาประมูลงานโครงการรถไฟใต้ดินในกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในปี 2013 นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศอิรัก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดทีโออาร์ไฮสปีดเทรน เอื้อทุนใหญ่ 1.2 แสนล้าน
ครม. อนุมัติโครงการไฮสปีดเทรน EEC เคาะงบ 1.1 แสนล้าน ร่วมลงทุน


e-book-1-503x62