'7 สมาคม' ชง 'อุตตม' คุมกำเนิดโรงเหล็ก

02 เม.ย. 2561 | 09:09 น.
020461-1555

7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ชง ‘อุตตม’ ระงับตั้งหรือขยายผลิตภัณฑ์เหล็กที่ล้นตลาดอยู่แล้ว และระงับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้กำลังผลิตต่ำ ส่วนปฏิกิริยาหลัง ‘อเมริกา’ เดินมาตรา 232 ผลักราคาเหล็กในมะกันพุ่ง หวั่นช่วงสั้นขาดตลาด ทำคู่ค้ายอมจ่ายภาษี 25% แทน

เส้นทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กนับวันยิ่งยากขึ้น ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่และมีเหล็กต้นน้ำมักได้เปรียบ ขณะที่ การแข่งขันทางการค้ารูปแบบต่าง ๆ ยิ่งรุนแรง พฤติกรรมการใช้เหล็กจะมีความซับซ้อนมากขึ้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายรัฐต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการปกป้องดูแล บรรเทาปัญหาได้ทันการณ์


appchina-steel

ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนจาก 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ประกอบด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า, สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และสมาคมโลหะไทย เข้าพบ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 โดยข้อเสนอตอนหนึ่งในร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก มีการเสนอให้พิจารณาห้ามตั้งหรือขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และนโยบายระงับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้กำลังผลิตต่ำ ประมาณ 30-40% แต่มีปริมาณนำเข้ามาก เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี

เนื่องจากปัจจุบัน การผลิตเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ผลิตในประเทศมีกำลังผลิตเต็มเพดานอยู่ที่ 13 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบัน ผลิตได้จริงเพียง 3.9 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของกำลังผลิตเต็ม ส่วนเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี ฯลฯ มีกำลังการผลิตในประเทศเกิน 9 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบัน ผลิตได้จริงเพียง 2.9 ล้านตัน หรือเป็นสัดส่วน 32% ของกำลังผลิตจริง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศจำนวนมาก


15-3353

ยอดนำเข้าเหล็กทะลุ 11 ล้านตัน
สอดคล้องกับที่ 7 สมาคมกลุ่มเหล็ก ออกมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กทุกชนิดในประเทศมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 16-17 ล้านตันต่อปีนั้น มาจากการใช้ในประเทศเพียง 6.8 ล้านตัน แต่เป็นสัดส่วนที่นำเข้ามาสูงถึง 11.3 ล้านตัน ที่นำเข้าแบบถูกต้องตามกฎหมายและหลีกเลี่ยงภาษี จนเป็นที่มาที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งเผชิญปัญหาเอ็นพีแอล การแข่งขันที่ไม่ได้ยืนอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน การต่อสู้กับเล่ห์เหลี่ยมนำเข้าที่หลีกเลี่ยงภาษี ในขณะที่มาตรการรับมือของรัฐบาลไทยไม่สามารถทำได้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งยังต้องระวังว่า จะผิดต่อกติกา WTO มากเกินไป ในขณะที่หลายประเทศให้ความสำคัญต่อการปกป้องอุตสาหกรรมของตัวเองแบบเร่งด่วนก่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจก่อสร้างจะมีการบริโภคเหล็กเป็นสัดส่วนสูงสุดถึง 53% เช่น เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และตะปู นอต รองลงมาเป็นกลุ่มเครื่องจักรกล 18%, ยานยนต์ 17%, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 7%, บรรจุภัณฑ์ 3.5% และอื่น ๆ 0.60% และหากพิจารณาเฉพาะธุรกิจก่อสร้างจะพบว่า มีการบริโภคหลักประมาณ 49% ที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมา คือ งานก่อสร้างที่อยู่อาศัยสัดส่วน 30% และงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ 21%


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ที่นำเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น หากทำได้ตามร่างน่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องการบรรเทาปริมาณเหล็กให้เชื่อมโยงกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของรัฐบาล และการใช้เหล็กในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ

ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้ส่งออกเหล็ก หลังต้องเผชิญปัญหามาตรา 232 จากสหรัฐอเมริกาต่อเหล็กไทยนั้น มองว่ากระทรวงพาณิชย์ควรเร่งรัดมาตรการปกป้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ค้างอยู่ให้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเรื่องที่ค้างอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ท่อเหล็กจากเวียดนาม ที่ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดการไต่สวน 2.มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากออสเตรเลียและอียิปต์ที่เปิดไต่สวนแล้ว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ ยังไม่รู้อัตราเพดานภาษีเอดี 3.เรื่องแก้ไขกฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงอากรการทุ่มตลาดที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย หากเร่งรัดได้เร็วขึ้นก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง


appWR1

“ในช่วงสั้น ๆ นี้ พบว่า จากกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ราคาเหล็กในอเมริกาพุ่งสูงขึ้น ผู้ส่งออกไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรในช่วงสั้น ๆ นี้ เนื่องจากผู้นำเข้าบางรายต้องการให้ไทยส่งออก โดยคู่ค้าฝั่งอเมริกายอมเป็นผู้จ่ายภาษีนำเข้าเหล็กกล้าในอัตรา 25% ให้ เพราะเกรงว่าเหล็กจะขาดแคลนได้ จึงยอมออกมาแบกภาระแทน”
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“กฤษฏา” ย้ำ! กฎเหล็ก “ไทยนิยม” งบ 2.4 หมื่นล้าน สั่งจ่ายตรง อุดช่องทุจริต
แก้เกม ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีเหล็ก แนะผู้ส่งออกยืมมือคู่ค้าสหรัฐฯ ยื่นอุทธรณ์


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว