ข้าพระบาท ทาสประชาชน : วีรบุรุษประชาธิปไตย กับสายลมของการเปลี่ยนแปลง

29 มี.ค. 2561 | 08:27 น.
63526652 ผมได้รับหนังสือเป็นอภินันทนาการมาเล่มหนึ่ง จากงานกอล์ฟการกุศลของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือชื่อ "อาทิตย์ อุไรรัตน์" แกะดำโลกสวย มุมปกด้านบนมีข้อความว่า "ไม่มีทางมืดแปดด้าน มืดอย่างมากที่สุดก็เจ็ดด้าน" หนังสือนี้เขียนโดย คุณสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผมหยิบมาอ่านทันทีเมื่อถึงบ้านด้วยความสนใจ 640_h68gjafc9ic55abh57df5 หนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนถึงประวัติชีวิต การงาน ธุรกิจ ประสบการณ์ชีวิตทางราชการและการเมือง อันน่าสนใจอย่างยิ่งของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนหลากหลาย เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง เป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลเอกชนยุคต่อๆ มา ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการถึง 3 กระทรวง เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ถึง 3 รอบ เป็นเวลารวมกันมากกว่า 20 ปี ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตมีความโดดเด่นเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขั้นนำของประเทศ มีชื่อเสียงในระดับโลก ท่านเป็นนักอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่เมื่อผู้เขียนขอให้นิยามตนเองว่าท่านเป็นนักอะไรที่แท้จริง ท่านกลับนิยามตนเองแบบถ่อมตนว่า "ผมเป็นนักล้มเหลว" อันสวนทางกับความสำเร็จมากมายที่ท่านได้ทำมา หรืออาจจะเป็นข้อคิดให้เราท่านได้ศึกษาว่า "ความล้มเหลว เป็นแม่แห่งความสำเร็จ” ก็เป็นได้
1522310819291 ในหนังสือมี 35 บท ผมสนใจที่สุดคือบทที่ 23 วีรบุรุษประชาธิปไตย/โลกสวย เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย ยุคปฏิวัติ รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ต้องการสืบทอดอำนาจ "ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ" จนในที่สุดก็เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน จนนำไปสู่เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ที่ทหารขนรถถังและอาวุธนานาชนิด เข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน เลือดนองท่วมท้องถนนราชดำเนิน ที่สุดรัฐบาลทหารสุจินครา ก็ต้องล้มคลืนลง ด้วยทานกระแสต้านของมวลมหาประชาชนไม่ได้

ในหนังสือได้สัมภาษณ์จากปากคำของ ดร.อาทิตย์ และได้บันทึกถึงสถานการณ์ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดนั้นว่า "การเมืองช่วงนั้นแบ่งขั้วกันชัดเจนสองฝ่าย เป็นฝ่ายพรรคเทพและพรรคมาร" พรรคเทพคือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ พลังธรรม และเอกภาพ ส่วนพรรคมารคือ พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคคือ สามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร
Image พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น เมื่อ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ จึงต้องให้สิทธิ์พรรคอันดับสองคือพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยขี้นเป็นนายกฯ มีการวิ่งเต้นล็อบบี้ ดร.อาทิตย์ กันชนิดฝุ่นตลบ เพราะในฐานะเป็นประธานรัฐสภา ที่รัฐธรรมนูญขณะนั้นบัญญัติไว่ว่า "นายกรัฐมนตรีนั้น ให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยมีประธานรัฐสภารับสนองพระบรมราชโองการ"

ด้วยเหตุนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จึงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจเสนอชื่อนายกเพื่อโปรดเกล้าฯ การล็อบบี้วิ่งเต้นเพื่อให้ ดร.อาทิตย์ เสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นไปอย่างเข้มข้น มีการเสนอตำแหน่ง รมว.มหาดไทยให้จากพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น หรือ ดร.อาทิตย์ อยากได้อะไรพรรคร่วมรัฐบาลก็ยอมทั้งนั้น มีการหลอกล่อเอาตัว ดร.อาทิตย์ ให้ไปเที่ยวพักผ่อนที่โรงแรมถึงสามเหลี่ยมทองคำ แล้วใช้บรรดา ส.ส.คอยเป็นหน่วยอารักขาควบคุมไม่ให้คาดสายตา ในช่วงระหว่างเวลาก่อนจะมีการเสนอชื่อบุคคลขึ้นเป็นนายกฯ
1522311688708 ดร.อาทิตย์เห็นว่า การเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ขึ้นเป็นนายกฯนั้น ประเมินอย่างไรก็ย่อมเป็นการสืบทอดอำนาจ รสช. แม้ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย แต่ก็ไม่ชอบธรรมโดยสิ้นเชิงต่อความรู้สึกของประชาชน แผนปลดล็อคและคิดหาทางออกให้ประเทศ จึงเกิดขึ้นจากสำนึกรับผิดชอบที่น่ายกย่องชมเชยอย่างยิ่ง ของ ดร.อาทิตย์ เพียงผู้เดียวในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนั้น

โดยท่านได้พยายามติดต่อเข้าพบและหารือขอคำปรึกษาบุคคลสำคัญๆของบ้านเมืองในขณะนั้น ในหนังสือก็บันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี ในที่สุดเมื่อถึงวันเวลาที่ท่านต้องตัดสินใจ ท่านเลือกที่จะเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ ดร.อาทิตย์ ได้พยายามติดต่อให้มารับตำแหน่งนายกฯ เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น ทั้งเป็น "บุคคลที่มีความพร้อมที่สุด เพิ่งออกไปหมาดๆเลย ไม่ต้องมาฟอร์มรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยให้มาอยู่แค่สามเดือน แล้วยุบสภา" คุณอานันท์ เมื่อถูกทาบทามจริงจังหลายครั้ง พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อชาติบ้านเมืองที่สุดจึงยอมรับ
1522311435266 แต่การจะเสนอชื่อบุคคลอื่นที่มิใช่คนของพรรคร่วมรัฐบาล ก็มิใช่จะราบรื่นโดยง่าย นอกจากจะถูกคนของพรรคร่วมรัฐบาลควบคุมติดตาม กดดัน ต่อรอง ควบคุม อยู่ตลอดเวลามิให้คลาดสายตา ยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาต่อหน้าความเป็นความตาย ดร.อาทิตย์ เดินทางเข้าวังสวนจิตรลดา โดยมีคนของพรรคร่วมรัฐบาลตามประกบตลอดเวลา แต่ในมือท่านมีกระดาษหัวครุฑ ซึ่งกระดาษใบนั้นยังว่างเปล่าเมื่อถึงวังสวนจิตรลดาจึงตัดสินใจครั้งสุดท้าย

โดยบอกกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า "ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกได้หรอก เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน ผมต้องเสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน"
1522312105448 โดยพิมพ์หนังสือกราบบังคมทูลที่ใต้บันไดพระตำหนักสวนจิตรลดาความว่า "ประเทศชาติบอบช้ำมากแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางเลือก นอกจากเสนอให้ตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อยุบสภา" พอกราบบังคมทูลเสร็จก็เสนอให้เซ็น พระองค์ท่านไม่ทรงตรัสอะไรเลย หลังจากนั้น พระองค์จึงตรัสว่า "กล้าหาญมาก สมเป็นรัฐบุรุษ"

ทั้งหมดหาอ่านในหนังสือเล่มดังกล่าวได้ คำว่า "วีรบุรุษประชาธิปไตย” จึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น ผมเขียนบทความนี้ ไปพร้อมกับได้ยินเสียงเพลง "wind of Change" สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของ Scorpions ดังลอยมาเหมือนกำลังพัดผ่านประเทศไทย ใครที่คิดสืบทอดอำนาจควรฟังอย่างยิ่งครับผม
.........................
คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3352 ระหว่างวันที่ 29-31 เม.ย.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว