3ส.ผู้ค้ายื่น6แนวทางเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่จี้ทอท.เปิดTOR

28 มี.ค. 2561 | 06:37 น.
3สมาคมผู้ค้ายื่น6แนวทางเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่ จี้ ทอท.เปิดเผยทีโออาร์ ดึงองค์กรต้านคอร์รัปชัน-สตง. มีส่วนร่วม

28 มี.ค.61-ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มี 3 สมาคมผู้ค้า ประกอบด้วย นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นางวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย และนายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอปรับปรุงระบบ เงื่อนไข วิธีการให้สัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศไทย ที่จะมีการเปิดประมูลขึ้นในอนาคตเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม

duty

โดย 3 สมาคมมีข้อเสนอ 6 ข้อ ถึงรัฐบาล คือ 1.หลักเกณฑ์สัมปทานฯให้เป็นตามหมวดสินค้า และต้องไม่ให้มีผู้รับสัมปทานรายเดียวดังที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาการให้สัมปทานฯไม่เกิน 5-7 ปี 2.ขั้นตอนและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานฯควรมี 2 ขั้นตอน โดยผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านมาคุณสมบัติด้านเทคนิคในขั้นตอนที่ 1 ทุกรายจะผ่านเข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนที่ 2 เพื่อพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนทางการเงิน ผู้เข้าร่วมประมูลที่ให้ผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด จะได้รับการเลือกให้เป็นผู้ได้รับสัมปทานฯในแต่ละหมวดหมู่สินค้านั้นๆ

3.การเพิ่มผลตอบแทนสัมปทานฯให้สูงขึ้น โดยมีอัตราเพดานตอบแทนสัมปทานฯสูงสุดไม่เกินร้อยละ 25-30 ของรายได้โดยประมาณ เพื่อไม่ให้มีการทิ้งสัมปทานฯ 4.จัดตั้งคณะกรรมการที่ไม่มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ให้คำแนะนำหรือผู้สังเกตการณ์ กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทีโออาร์ และการคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานฯ และระยะเวลาการเสนอแผนงานของผู้เข้าร่วมประมูลไม่ควรน้อยกว่า 90 วัน

5.จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน ต้องจัดให้มีตามกฎหมายศุลกากร โดยไม่เปิดให้มีสัมปทาน แต่ให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่พร้อมระบบตรงจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.และเก็บค่าบริการไม่เกินร้อยละ 1 ของยอดขาย และ 6.ลดอากรนำเข้าสำหรับสินค้าที่ได้รับการนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และที่คนไทยนิยมซื้อจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีก

duty3

ด้าน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเรื่องหลักเกณฑ์สัมปทานฯต้องไม่ใช่เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียวอีกต่อไป เพราะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่โตพอพอกับท่าอากาศยานชางงี ของประเทศสิงคโปร์ ท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และท่าอากาศยานฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่าอากาศยานของเขาให้สัมปทานตามหมวดสินค้า ถ้าเก่งด้านสินค้าประเภทใดก็ได้สัมปทานตามนั้น และอายุสัมปทานต้องไม่ใช่ 10 ปีเหมือนที่ผ่านมา ควรมีระยะเวลาการให้สัมปทานฯไม่เกิน 5-7 ปี และค่าตอบแทนของผู้ได้รับสัมปทานควรไม่ต่ำกว่า 30% จากยอดขาย ที่ผ่านมาเราได้ 15-20%

“เพราะปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีสินค้าไม่หลากหลาย ร้านค้าไม่หลากหลาย มีแต่ร้านขายสินค้าราคาสูง แต่ไม่มีร้านราคาปานกลางที่คนส่วนใหญ่ซื้อได้ และบริการยังไม่ดี เพราะองค์กรสำรวจความคิดเห็นผู้โดยสารและผู้ใช้บริการจากทั่วโลก หรือ สกายแทรกซ์ให้คะแนนเรื่องร้านค้าและสินค้าของสุวรรณภูมิเพียง 3.8 จาก 5 คะแนน”

ส่วนเรื่องพิกอัพเคาท์เตอร์ ดร.ฉัตรชัย กล่าวว่า กรมศุลกากรบอกว่าเราสามารถเปิดร้านค้าปลอดภาษีในเมืองได้หรือดาวทาวน์ดิวตี้ฟรี แต่ปัญหาคือ เปิดแล้วเราต้องมีจุดรับมอบสินค้าในสนามบิน ซึ่งทุกวันนี้ ทอท.ก็บอกว่าไม่มีจุดรับมอบสินค้าให้

“ผมไปดูการจัดการที่สนามบินอินซอน ที่เกาหลี มีผู้รับสัมปทานที่นั่น 7 ราย มีพื้นที่พิกอัพเคาท์เตอร์ของใครของมันเลย ไม่ใช่ต้องมาผ่านรายเดียวที่ได้รับสัมปทาน ไม่ใช่เรื่องของสัมปทาน เพราะการทำร้านดิวตี้ฟรีในเมือง ระบุว่าคุณต้องมีร้านค้าในเมือง มีคลังสินค้าและมีจุดรับสินค้าที่สนามบิน นี่คือเรื่องที่ทอท.ต้องบริหาร”

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับประเด็นการลดอากรนำเข้าสำหรับสินค้าที่ได้รับการนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และที่คนไทยนิยมซื้อจากต่างประเทศ ดร.ฉัตรชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้สินค้าหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่ที่ประมาณ 20-40% เราเสนอให้ลดเหลือ 5-10% เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้นและคนไทยก็สามารถเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศได้

“ปี 2557 คนไทยไปใช้จ่ายในต่างประเทศ 1.6 แสนล้านบาท เป็นการซื้อสินค้าแบรนด์เนม 5 หมื่นกว่าล้าน ถ้าเรานำ 5 หมื่นกว่าล้านนั้นกลับเข้าประเทศได้สัก 50% ก็จะได้ประโยชน์กับประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น และภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะได้มากขึ้น” ดร.ฉัตรชัย กล่าวและว่า เรื่องทั้งหมดที่เสนอหวังว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ก่อนที่สัมปทานเดิมจะหมดในช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 จึงคาดว่าจะเปิดประมูลครั้งใหม่ให้แล้วเสร็จในปลายปีนี้

ผอ.การบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวเรียกร้องให้ ทอท.เปิดเผยร่างทีโออาร์การเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากรรอบใหม่ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม รวมทั้งเปิดให้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว