10 ข้อว่าด้วยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

30 มี.ค. 2561 | 04:04 น.
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงเบื้องหลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. สงครามการค้า หรือ Trade War คือสถานการณ์เมื่อประเทศหนึ่งบังคับใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศหนึ่ง (หรือหลายๆ ประเทศ) และทำให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจกับประเทศที่ถูกใช้มาตรการเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเราในที่นี้เรากำลังพูดถึงมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม โดยประธานาธิบดี Trump อ้างว่าเป็นการโต้ตอบตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ เมื่อพบว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

2. ทุกฝ่ายล้วนสูญเสียหากมีการทำสงครามการค้า ตัวอย่างที่ Classic ที่สุดที่อาจารย์ทั่วโลกมักจะใช้สอนในวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศก็คือ กรณี Smoot-Hawley Act ที่สหรัฐฯ ประกาศจะใช้กำแพงภาษีเพื่อปกป้องผู้ผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศ แล้วตามด้วยการที่นักอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ Lobby จนในที่สุดสหรัฐฯสร้างกำแพงภาษีในเกือบทุกสินค้านำเข้าในอัตราเฉลี่ยที่ 20%ผลที่ตามมาคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจทั่วโลกดำดิ่งสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก นั่นคือ The Great Depression ตลอดทศวรรษ 1930 เกือบทุกประเทศที่เข้า ร่วมสงครามการค้าสูญเสียทองคำสำรองจำนวนมหาศาล (สมัยนั้นยังใช้มาตรฐานทองคำในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน) ทำให้ค่าเงินถูกลดค่า และต้องขึ้นกำแพงภาษีในอีกเกือบทุกรายการสินค้า การค้า และการลงทุนของโลกชะงักงัน

TP10-3351-1B 3. ต้องอย่าลืมว่าในความเป็นจริง ในเวทีการค้าโลกมีประเทศอยู่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น นั่นคือ ประเทศที่ผลิตมากกว่าตนเองต้องการจะใช้ และประเทศที่ต้องการจะใช้มากกว่าที่ตนสามารถผลิตได้ และนั่นทำให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเกิดขึ้น การที่ประเทศขาดดุลการค้า แปลว่า เขาใช้มากกว่าที่เขาผลิตได้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเศรษฐกิจขยายตัวและเติบโตขึ้นมิใช่หรือ เขาจึงใช้มากกว่าที่ผลิต เขาจึงนำเข้า และเขาจึงขาดดุลการค้า แต่อย่าลืมว่า ดุลยภาพในตลาดโลกจะปรับตัวโดยดุลการค้า (Trade Balance) และบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่ขาดดุลจะถูกชดเชยโดย บัญชีทุน (Capital Account) ที่เกินดุลเสมอ นั่นหมายความว่า การขาดดุลการค้าจะถูกชดเชยโดยเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ เข้ามาลงทุน เพราะเห็นโอกาสแล้วว่าประเทศคุณยังผลิตไม่พอใช้ เราน่าจะรีบไปลงทุนผลิตเพื่อป้อนตลาดประเทศนี้นะ และเราก็มักจะเห็น เสมอๆ ว่าประเทศที่ขาดดุลการค้าคือประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัว การลงทุนเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตถูกพัฒนา ดังนั้นการทำสงครามการค้า ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ จึงไม่น่าจะใช่ข้ออ้างที่เหมาะสม เพราะมันตรงข้ามกับสภาพความ เป็นจริง และดึงให้ทุกคนลงเหวเสียมากกว่า

4. แล้ว Trade War ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ แก้ปัญหาการว่างงาน รวมทั้งลดปัญหาการขาดดุลการค้าได้จริงหรือ ถ้าเป็นตัวอย่างในห้วงเวลาปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของ Trump กรณี Classic อีกกรณีก็คือ การขึ้นกำแพงภาษีการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้า โดยประธานาธิบดี George W. Bush ในปี 2002 แน่นอน เพื่อปกป้องกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นฐานเสียงของพรรค Republican โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ คนงานในอุตสาหกรรมเหล็กกว่า 15,000 รายจะต้องตกงานจากโรงงานเหล็กที่ต้องปิดตัวเพราะถูกโจมตีจากเหล็กนำเข้าราคาถูก แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่า ไม่เคยมีใครซื้อเหล็กกลับไปกินที่บ้าน ทุกคนซื้อเหล็กไปทำการผลิตต่อ เพราะเหล็กคือวัตถุดิบ เหล็กคือต้นนํ้าของทุกอุตสาหกรรม เมื่อเหล็กแพงขึ้นเพราะกำแพงภาษี นั่นเท่ากับต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ต่อเรือ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน และในที่สุดผลจากมาตรการนี้ในปี 2002 ก็ทำให้ GDP ของสหรัฐฯในปีนั้นลดลงกว่า 30.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้มีคนงานว่างงานจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ถดถอยลงอีกกว่า 200,000 คน (จากการคำนวณของ US International trade Commission) ในขณะที่สถาบัน Peterson Institute for International Economics คำนวณออกมาว่าต้นทุนของการทำให้คนงานในอุตสาหกรรมเหล็ก 1 คนมีงานทำต่อไปโดยการขึ้นกำแพงภาษีอยู่ที่ประมาณ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนงาน 1 คน

5. จากการคำนวณของ Gavyn Davies (อดีตหุ้นส่วนของ Goldman Sachs และ อดีตประธาน BBC) เขาพบว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเอเชียตะวันออก 20% จะทำให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแท้จริง (Real GDP) ของสหรัฐฯ ลดลง 0.6% สอดคล้องกับการทำแบบจำลอง Global Economic Model ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่พบว่า หากสหรัฐฯขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของตน 10% แล้ว GDP ของสหรัฐฯเองนั่นล่ะที่จะล่วงลง 1% และทำให้รายได้ของทั้งโลกลดลง 0.3% ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 35 ประเทศในนาม OECD ก็มีการทำ Simulation ในปี 2016 และพบว่าหากทั้งโลกทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีกันทุกประเทศ ประเทศละ 10% เหตุการณ์นี้จะทำให้การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลง 6% ในขณะที่ Real GDP ของทั้งโลกจะลดลง 1.4% โดยสหรัฐฯ จีน และยุโรป จะมี Real GDP ที่ลดลงระหว่าง 1.7-2.2% นั่นหมายความว่า ไม่เคยมีใครได้ประโยชน์จาก Trade War

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ 6. คำถามต่อมาก็คือ แล้วเหตุการณ์ตอนนี้ถือเป็น Trade War แล้วหรือยัง คำตอบคือ ยังครับ เพราะหากไปพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากข้อมูลของ US Trade Representative เราจะพบว่า ณ ปี 2016 มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้อยู่ที่ 648.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน 478.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนเพียง 169.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนอยู่ที่ 385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนี่คือ 3 ใน 4 ของตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมด และถ้ามาดูรายการสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมูลค่าสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (129 พันล้านดอลลาร์) เครื่องจักร (97 พันล้านดอลลาร์) เฟอร์นิเจอร์ (29 พันล้านดอลลาร์) ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา (24 พันล้านดอลลาร์) และรองเท้า (15 พันล้านดอลลาร์) ในขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าจากจีนมีมูลค่าเพียง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับ 1.2% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

นั่นหมายความว่า รายการสินค้าที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเป็นเพียงรายการเล็กๆ ในมูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่าง 2 ประเทศ คือถ้าจะทำสงครามการค้ากันจริงๆ สหรัฐฯ น่าจะพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายใหญ่ๆ มิใช่หรือ ถ้าจะทำสงครามจริง ต้องสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าในการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องจักรสิ ถึงจะเป็นการทำสงครามจริง ยิ่งไปกว่านั้น หากไปพิจารณาเปรียบเทียบกับแหล่งนำเข้าเหล็กของสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า โดยแท้จริงแล้ว เหล็กหนักๆ จากจีนไม่ได้เดินทางข้ามโลกไปถึงสหรัฐฯ มากนักหรอกเมื่อเทียบกับประเทศที่สหรัฐฯ นำเข้าเหล็กจำนวนมากๆ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา บราซิล เม็กซิโก และเกาหลีใต้

7. แล้วทำไมสหรัฐฯต้องทำแบบนี้ ออกท่าทางเสมือนว่าจะทำสงครามการค้ากับจีน แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นแค่การขู่คำรามในลำคอเสียมากกว่า คำตอบก็คือ สหรัฐฯกำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมครับ โดยในการเลือกตั้งกลางเทอมนี้จะมีการเลือก ส.ส. (House of Representatives) จำนวน 435 ที่นั่ง เลือก ส.ว. (US Senate) จำนวน 34 ที่นั่ง และเลือกผู้ว่าการรัฐ (State Governor) อีก 36 มลรัฐ โดยพื้นที่ดังกล่าวรวมถึงบริเวณที่นิยมเรียกกันว่า Rust Belt หรือมลรัฐที่มีอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะโรงงานถลุงเหล็ก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอุตสาหกรรมขาลง ตกตํ่ามาอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และนี่คือฐานเสียงสำคัญของ Trump เพราะต้องไม่ลืมว่าเขาหาเสียงและได้รับคะแนนนิยมจากคนอเมริกันในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากภายใต้แคมเปญหาเสียง Make American Great Again

โดยในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะถึงนี้ รัฐที่อยู่ใน Rust Belt ที่จะต้องเลือกตั้งได้แก่ New York, Pennsylvania, Ohio, Michigan, Illinois, Iowa และ Wisconsin (เหลืออีกเพียง 2 รัฐที่อยู่ในกลุ่มนี้แต่ยังไม่เลือกตั้ง ได้แก่ West Virginia และ Indiana) ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็น Trump ออกมาเอาใจฐานเสียงของเขาในช่วงนี้โดยทำให้เห็นว่า เห็นมั้ย ผมออกมาปกป้องพวกคุณ ผมออกมาประกาศขึ้นกำแพงภาษีสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯยังเดินหน้าต่อไปได้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก 8. แล้วคนพวกนี้เขาไม่กลัวผล กระทบด้านลบที่จะสะท้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจยํ่าแย่ลงอีกหรือ หากสงครามการค้าเกิดขึ้น หรือเขาไม่รู้หรือว่า ไม่เคยมีใครได้ประโยชน์จากการทำนโยบายการค้าแบบปกป้อง คำตอบคือ พวกเขาไม่น่าจะรู้ครับ เพราะหลังการเลือกตั้งในปี 2016 มีหลายสำนักทีเดียวที่ออกมาวิเคราะห์หา Profile ของผู้ที่เลือก Donald Trump เป็นประธานาธิบดี และเราพบว่า แฟนานุแฟนของ Trump ส่วนใหญ่ คือ ชาย-หญิงผิวขาว วัยกลางคน ฐานะค่อนข้างยากจน และการศึกษาไม่สูงมากนัก ในรัฐที่ตั้งอยู่ใน Rust Belt

9. ดังนั้นเราอาจจะกล่าวได้แล้วครับว่า ณ ปัจจุบัน การออกมาตรการตามมาตรา 301 ของสหรัฐฯ ยังไม่ใช่การประกาศสงครามการค้า เพราะเมื่อเปรียบเทียบ Scale ในรายการสินค้าที่จะมีการขึ้นอัตราภาษีแล้ว เราพบว่านี่เป็นเพียงสงครามการเมืองภายในสหรัฐฯ เสียมากกว่า เป็นสงครามในการช่วงชิงคะแนนเสียงของ Trump ในการเลือกตั้งกลางเทอม เพื่อที่เขาจะได้มีเสียงใน Congress มากขึ้น และได้รับการสนับสนุนในนโยบายของเขาอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

10.สิ่งที่เราต้องจับตาดูต่อไปก็คือ แล้วจีน จะตอบโต้หรือไม่ อย่างไร จีนคงต้องตอบโต้แน่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในมิติประชากร และมิติรายได้แท้จริง ต้องสามารถคานดุลอำนาจทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯได้ หากจีนตอบโต้โดยออกมาตรการกีดกันทางการค้าในรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯที่มีมูลค่าไม่สูงนัก นั่นก็เท่ากับ จีนมองนโยบายสหรัฐฯ เป็นเพียงการหาเสียงภายในประเทศเท่านั้น พญาไม้ใหญ่อย่างจีนก็คงยอมให้นกหนูมาขี้รดใส่ได้บ้าง แต่ถ้าจีนตอบโต้กลับโดยการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าสูงๆ อาทิ การนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ การนำเข้าเครื่องบินอากาศยาน การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเข้ายานยนต์จากสหรัฐฯ หรือการยกเลิกไม่ซื้อหรือลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (เท่ากับลดการปล่อยกู้ให้สหรัฐฯ ลง) ถ้าจีนตอบโต้รุนแรงแบบนี้สิครับ สงครามการค้าถึงจะเกิดขึ้นจริง และอย่างที่เรียนไปตอนต้น ไม่เคยมีใครได้ประโยชน์จากการทำสงครามการค้า และเมื่อพญามังกรตบตีกับพญาคาวบอย หญ้าแพรกก็แหลกลาญนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว