ลุยปลดหนี้เกษตร 6 หมื่นราย กฟก.ชูโมเดลใหม่แก้ปัญหา-ปลด‘สมยศ’หยุดม็อบฮือ

24 มี.ค. 2561 | 06:58 น.
เกษตรฯ ปลด “สมยศ” ออกจากรักษาการเลขาฯกองทุนฟื้นฟูฯ แลกสัญญาใจ 3 เดือน ม็อบไม่ลุกฮือ จับตา 29 มี.ค. “กฤษฎา” นั่งหัวโต๊ะถกแก้หนี้โมเดลใหม่ ใช้วิธีแฮร์คัต พักหนี้ ขยายเวลา 15-20 ปี แลกแผนฟื้นฟู เล็งเป้า 6 หมื่นราย

นับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดคณะกรรมการ(บอร์ด) กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (บอร์ดเฉพาะกิจ) ขึ้นมาดูแลแทนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อแก้หนี้เกษตรกร โดยได้ขยายระยะเวลา 180 วันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะครบรอบที่ 2 ในวันที่ 12 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

TP8-3350-A แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารกระทรวงได้ปลดนายสมยศภิราญคำ รักษาการเลขาฯ กฟก.ลงตามคำเรียกร้องของม็อบแล้ว และให้นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ โดยมีสัญญาว่า 3 เดือนจากนี้กลุ่มเกษตรกรจะไม่มาเรียกร้อง และจะปล่อยให้คณะทำงานชุดใหม่เร่งสางปัญหาหนี้ของเกษตรกรโดยเร็ว โดยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมบอร์ดเฉพาะกิจที่มีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งเป็นประธาน

สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้จะมีการรายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่จะมีการซื้อหนี้ก้อนแรกจากเกษตรกรจำนวน 739 ราย มูลหนี้ 135 ล้านบาท จากสมาชิกที่มาแสดงตัวว่ามีหนี้สินที่ต้องการให้กองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหา 2.9 แสนราย (ดูกราฟิกประกอบ) แต่ยังไม่ได้มีการซื้อหนี้จริง เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเกษตรฯ เสียก่อน และระหว่างนั้นทางคณะกรรมการกลั่นกรองยังคงทำงานปกติ และคาดว่าจะส่งรายชื่อเพิ่มเติมอีก 400 ราย รวมเป็น 1,139 ราย โดยเงื่อนไขเดิมทางกองทุนจะชำระหนี้แทน 50% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ย และค่าปรับ ส่วนที่เป็นสหกรณ์การเกษตรจะชำระหนี้แทนในเงื่อนไข 100% ของเงินต้น ตัดดอกเบี้ยและค่าปรับ หากที่ประชุมเห็นชอบจะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ดีสมาชิกที่มาขึ้นทะเบียนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่มีคนคํ้า ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน จะใช้แผนฟื้นฟูบูรณาการกับการจัดการหนี้ คาดจะนำร่อง 6 หมื่นราย จากทั้งหมด 8.5 หมื่นราย ส่วนที่เหลือกำลังรอผลการเจรจากับสถาบันเจ้าหนี้ โดยต้องแฮร์คัตหนี้ก่อน จะตัดกี่เปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเฉพาะกิจ หลังจากพักหนี้เกษตรกร พร้อมกับขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 15-20 ปี ระหว่างนั้นเกษตรกรจะต้องทำแผนว่าจะทำอะไรเพื่อสร้างรายได้ ทั้งแผนฟื้นฟูส่วนบุคคล และองค์กรสถาบันถ้าใครไม่มีแผนจะไม่ได้รับการแก้หนี้

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ “หนี้จะได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและเงินที่รัฐบาลจะนำไปใช้แก้ปัญหาจะเป็นเงินกู้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน เมื่อเกษตรกรมีรายได้แล้ว จะนำรายได้มาชำระหนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น 6 หมื่นรายนำร่อง จาก 8.5 หมื่นราย เน้นลูกค้าคนคํ้า รายย่อย เตรียมโอนเข้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดการหนี้ต่อไป”

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาสมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) กล่าวว่า พอใจที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ฟังเสียงเรียกร้องเกษตรกร ส่วนทิศทางการแก้ปัญหาในโมเดลใหม่ให้ฟื้นฟูอาชีพ ให้ทำแผน และแขวนหนี้ ลักษณะกึ่งพักหนี้ เป็นความคิดของกลุ่มที่นำไปคุยกับชาวบ้านแล้วเห็นด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ซื้อไม่ได้ อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้หลังจากที่สมาชิกกองทุนปลดหนี้ได้ มีการไถ่ถอนแล้วคืนโฉนดไป ก็นำไปขายใหม่ ผิดเจตนารมณ์ที่ต้องการจะปกป้องพื้นที่เกษตรกรรม รู้สึกผิดหวัง ดังนั้นเมื่อทางกระทรวงเห็นแนวทางนี้ ทางกลุ่มก็เห็นด้วยอย่างน้อยเกษตรกรจะไม่สามารถไปขายได้ แล้วถ้าหากประกอบอาชีพมีกำไร เชื่อว่าในอนาคตเมื่อปลดหนี้ได้แล้ว เกษตรกรจะไม่ขายที่ดิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว