เปิดพิมพ์เขียวกฎหมายคุมจริยธรรม ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ 2.5 ล้านคน

15 มี.ค. 2561 | 14:41 น.
รัฐบาล ออกกฎหมายควบคุมจริยธรรมข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ 2.5 ล้านคน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ องค์กรกลางบริหารงานบุคคล ไปขนถึงระดับหน่วยงาน

- 15 มี.ค. 61 - รายงานข่าว เปิดเผยว่า สำนักงานก.พ.ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. .... ระหว่างวันที่ 13-18 มีนาคม 2561 เพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย โดยจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐในภาพรวมมีประมาณ 2.5 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึง เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ ลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ

โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ก.ม.จ.) ที่มี นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ขึ้นมา1 คณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมถึงวินิจฉัย ตีความ หรือให้ความเห็นในเรื่องที่ขัดแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม

กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำพฤติกรรมในการรักษาจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล เช่น การทดลองปฏิบัติงาน การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง และการให้บำเหน็จความชอบ ซึ่งการนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนจริยธรรมที่จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาให้คุณให้โทษ อาทิ การย้ายผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือมีความเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนจริยธรรม การนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ประกอบการแต่งตั้งตำแหน่งระดับสูง (ปลัดกระทรวง อธิบดี) การสั่งไม่เลื่อนเงินเดือน นอกจากนี้ การนำพฤติกรรมในการรักษาจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลดังกล่าว อาจนำไปสู่การพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ หรือฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม และทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

กำหนดให้มีกลไกในการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมใน 3 ระดับ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ บทบาทภารกิจของผู้รับผิดชอบการดำเนินการในแต่ละระดับให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลไกในการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรม มีดังนี้

1. กลไกระดับชาติ กำหนดให้คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ก.ม.จ.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะนโยบายการขับเคลื่อนและส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ วางมาตรการ หลักเกณฑ์การนำมาตรฐานทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล วินิจฉัย ตีความ หรือให้ความเห็นในเรื่องที่ขัดแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม

2. กลไกระดับองค์กรกลางบริหารงานบุคคล กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการอื่นที่ทำหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้น และให้มีกลไกขับเคลื่อน องค์กร กระบวนการและวิธีการในการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เชื่อมโยงนโยบายด้านการส่งเสริมจริยธรรมสู่การปฏิบัติ กำหนดมาตรฐานในการบริหารงานบุคคลโดยนำพฤติกรรมทางจริยธรรมที่สอดคล้องกับภารกิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทไปใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล

3. กลไกระดับหน่วยงาน กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำพฤติกรรมในการรักษาจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หรือในระหว่างที่ยังมิได้ออกระเบียบหรือข้อบังคับ ก.ม.จ. หรือกำหนดกรณีใดเพื่อปฏิบัติการตามร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. .... ให้นำประมวลจริยธรรม กฎ ระเบียบ หรือกรณีที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ....

ก.พ.ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายฉบับนี้เหราะ ปัจจุบันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อสังคมไทย รัฐบาลทุกสมัยจึงได้กำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างระบบราชการที่ปลอดคอร์รัปชัน บริหารงานบนหลักธรรมาภิบาล และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยข้าราชการในฐานะกลไกขับเคลื่อนงานหลักของภาครัฐต้องเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูประบบราชการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นให้ข้าราชการ ผู้บังคับบัญชา/ผู้นำในภาครัฐตระหนักและมีสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อให้การพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเป็นกลไกที่จะสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม และการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นรูปธรรม