ชิง‘มาบตาพุด เฟส3’เดือด นักลงทุนต่างชาติ 130 รายเล็งเข้าร่วมประมูลพีพีพี

17 มี.ค. 2561 | 09:00 น.
กนอ.เดินหน้าทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง พีพีพีโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 206 ราย ร่วมระดมความคิดเห็น ก่อนออกร่างทีโออาร์มิถุนายนนี้ ชี้ประมูลครั้งนี้คึกคักแน่นอน ผู้ลงทุนรายเก่าชิงพื้นที่ขยายงาน

มีความคืบหน้าเป็นระยะกับโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็น หนึ่งในโครงการเร่งด่วนของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่จะต้องเปิดประมูลในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนหรือพีพีพี โดยทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ในฐานะเจ้าของโครงการ อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนเพื่อนำไปสู่การออกทีโออาร์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 นี้

ล่าสุดในวันที่ 20 มีนาคม นี้ จะมีการจัดรับฟังความต้องการของนักลงทุนหรือมาร์เก็ต ซาวดิ้ง เพื่อนำมาปรับปรุงร่างทีโออาร์ โดยได้มีการเชิญนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมให้ความคิดเห็นประมาณ 206 บริษัท แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่าเรือมาบตาพุดเดิม กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มท่าเรือสินค้าเหลว กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าเหลว และกลุ่มสถาบันการเงิน โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติถึง 130 บริษัท ใน 20 กลุ่มประเทศ
tp11-3348-1C
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะมีการแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ที่เกี่ยวข้องกับการถมทะเลบนเนื้อที่ 1 พันไร่ ใช้งบลงทุนราว 1.08 หมื่นล้านบาท และการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเล ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ท่าเทียบเรือก๊าซ คลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ งบลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_130527" align="aligncenter" width="503"] วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)[/caption]

โดยกนอ.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางแรกกนอ.จะลงทุนเองทั้งหมด แนวทางที่ 2 กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชน และแนวทางที่ 3 เอกชนจะลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อนำไปชี้แจงและรับฟังความเห็นของนักลงทุน(มาร์เก็ตซาวดิ้ง) นำมาปรับปรุงทีโออาร์ ว่า รูปแบบการลงทุนของทั้ง 2 ส่วนจะเป็นอย่างไร เหมาะสมที่สุด รวมถึงระยะเวลาการร่วมทุน 20 ปีหรือ 30 ปี เป็นต้น

จากการเชิญชวนนักลงทุนครั้งนี้ ถือว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างมาก เพราะโครงการดังกล่าวถือเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจากสิงคโปร์ อังกฤษ จีนเบลเยียมเกาหลี กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มสแกนดิเนเวีย เป็นต้น เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีไม่กี่ประเทศที่มีงานถมทะเล จึงทำให้นักลงทุนรายใหญ่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการถมทะเลและก่อสร้างท่าเรือได้ให้ความสนใจ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายเดิมที่ดำเนินกิจการอยู่ในท่าเรือมาบตาพุดเฟส 2 อยู่แล้ว จำนวน 12 ราย ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่เดิมที่ใช้งานอยู่ค่อนข้างเต็มแล้ว หากจะขยายงานจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปตท. กลุ่มเอสซีจี รวมถึงรายใหม่ๆ เช่น กลุ่มบริษัท กัลฟ์ฯ สนใจก่อสร้างท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติ บริษัท นทลิน จำกัด สนใจก่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลว เป็นต้น

นอกจากนี้ มองว่ากลุ่มบริษัทรายเดิมที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว อาจจะมีความสนใจเข้าร่วมประมูลในการถมทะเลด้วยแต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่การรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างทีโออาร์ครั้งนี้ด้วยว่าจะออกมาอย่างไร แต่มองว่าการประมูลก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จะคึกคักอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขัน และหาผู้ร่วมทุนให้ผลตอบแทนกับรัฐมากที่สุดได้

“สิ่งที่เป็นไปได้คือนักลงทุนญี่ปุ่นอาจจะมาจับมือนักลงทุนรายเดิมที่ดำเนินกิจการอยู่แล้วเพื่อดำเนินการถมทะเล พร้อมกับลงทุนในกิจการบนพื้นที่ถมทะเลเพราะขณะนี้ดอกเบี้ยของญี่ปุ่นตํ่ามากเป็นโอกาสที่จะเข้ามาแข่งขันกับรายอื่นๆ ในต้นทุนที่ตํ่าได้”

สำหรับการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 ระยะแรกจะเป็นการถมทะเล1,000ไร่ส่วนระยะที่2จะเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่ามีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ 150 ไร่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว