เปิดร่าง 'พ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล' เล็งรีดภาษี 15%

15 มี.ค. 2561 | 13:17 น.
1956

ครม. เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล ส่งกฤษฎีกาปรับแก้ เผย ‘แพลตฟอร์ม-โบรกเกอร์-ดีลเลอร์’ ต้องขึ้นทะเบียน พร้อมออกประมวลรัษฎากร รีดภาษี 15% จากการซื้อขาย-ปันผลสินทรัพย์ดิจิทัล เท่ากฎหมายหลักทรัพย์


 

[caption id="attachment_263483" align="aligncenter" width="503"] ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 มี.ค. 2561 เห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผล ที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดังกล่าวให้สอดคล้องกัน โดยมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเนื้อหาร่าง พ.ร.ก. ให้รัดกุม คาดจะชัดเจนในสัปดาห์หน้า

ครม.เห็นชอบหลักการร่างพรก.คุมเงินดิจิทัล

หลักการของร่าง พ.ร.ก. จะกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะต้องมีการลงทะเบียนผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้ ได้แก่ 1.ตัวกลาง หรือ แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล 2.นายหน้า หรือ โบรกเกอร์ และ 3.ผู้ค้า หรือ ดีลเลอร์ เพื่อให้รู้ว่า ใครเป็นใคร โดยจะไม่ปิดกั้นทางธุรกิจ


pexels-photo-843700

กระทรวงการคลัง รายงานว่า ปัจจุบัน ประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วน เช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่น ๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ

“เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจ และการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด”


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ว่า ‘ทรัพย์สินดิจิทัล’ หมายความว่า 1.คริปโทเคอร์เรนซี 2.โทเคนดิจิทัล และ 3.ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

‘คริปโทเคอร์เรนซี’ หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้
โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด


pexels-photo-844127

‘โทเคนดิจิทัล’ หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

ในร่าง พ.ร.ก. ยังกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย นั้น สามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง : สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว

 

[caption id="attachment_250005" align="aligncenter" width="492"] เกศรา มัญชุศรี เกศรา มัญชุศรี[/caption]

ด้าน น.ส.เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.ก. นี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ การออกเป็น พ.ร.ก. จะครบเครื่องในการใช้อำนาจให้เป็นไปตามกฎหมาย สะท้อนรัฐบาลเห็นด้วยว่า ธุรกรรมดิจิทัล / อิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งส่วนดี และกรณีไม่สุจริตจะควบคุมได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้ ม.44 ซึ่ง ตลท. ต้องทำงานใกล้ชิดในเรื่องนี้

ส่วนผลของ พ.ร.ก. ต่อระบบนั้น ต้องรอดูผลหลังกฎหมายบังคับใช้ เพราะวิธีเขียนกฎหมายของไทยที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ประเทศอื่นธนาคารกลางอาจมีอำนาจควบคุมได้


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

“ส่วนตัวยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ง่ายและมีคนมีความรู้ไม่เท่ากัน ซึ่งต้องดูที่วัตถุประสงค์สำหรับคนสุจริต หากมีความรู้และใช้ข้อมูลเป็น”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15-17 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เจาะไส้ใน! ร่าง ก.ม.คุมเงินดิจิทัล รีดภาษี 15% ของรายได้
เปิดร่าง พ.ร.ก.รีดภาษีเงินดิจิทัล 15%! คำนวณรวมเป็นรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว