คลัสเตอร์ปิโตรเคมีใกล้ข้อสรุป ได้แผนลงทุนปีนี้กว่าแสนล้านบาท

20 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
คณะทำงานปิโตรเคมี ชง"อรรชกา"เร่งขับเคลื่อนคลัสเตอร์ภายในม.ค.นี้ หลังได้ข้อสรุปผลิตเป้าหมายที่จะส่งเสริม 30 ผลิตภัณฑ์ดึงนักลงทุนไทยและต่างประเทศรวม 14 ประเทศ โดยเบื้องต้นได้นักลงทุนที่มีความพร้อมจะลงทุนภายในปีนี้แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ใน 28 โครงการ พร้อมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขอุปสรรคการลงทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยสนับสนุนการลงทุน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการว่า จากที่คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำงาน 6 คณะตามคลัสเตอร์ต่างๆ โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เป็นประธานนั้น มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก

โดยในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พิจารณากำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายของปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย และมีนักลงทุนเป้าหมายจำนวน 18 ราย ใน 7 ประเทศ เช่น ไทย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เบลเยียม เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย และบราซิล ที่จะมีการชักชวนมาลงทุน ส่วนกลุ่มเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 15 ผลิตภัณฑ์ มีนักลงทุนเป้าหมายประมาณ 28 ราย ใน 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี จีน บราซิล ญี่ปุ่น อินเดีย อิตาลี เบลเยียม ไต้หวัน ฝรั่งเศส หรือเป็นประเทศเป้าหมายที่จะไปเชิญชวนมาลงทุน 14 ประเทศ

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนที่ได้มีการประเมินเบื้องต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีการลงทุนอยู่แล้วในไทย เช่น กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เอสซีจี วีนิไทย มิตรผล รวมกันประมาณ 28 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.67-1.81 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่มีความพร้อมลงทุนในปีนี้คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนกลุ่มปิโตรเคมี 21 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 7.94-8.01 หมื่นล้านบาท ซึ่งพร้อมจะลงทุนได้ภายในปี 2559 ตามนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และลงทุนหลังปี 2559 เงินลงทุน 8.08-8.69 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ พร้อมลงทุนภายในปี 2559 จำนวน 7 โครงการเงินลงทุน 2.1-2.2 หมื่นล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นว่าหากมีโครงการอื่นๆ มีความชัดเจน สามารถนำมาเสนอเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ ไม่รวมโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โครงการขยายท่าเทียบเรือ และโครงการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษ ของกลุ่มบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าโครงการที่จะได้รับการส่งเสริมตามนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์นั้น การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์จะต้องอยู่ใน 6 กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย ผลิตเคมีภัณฑ์/วัสดุ ที่มีความบริสุทธิ์สูง หรือที่มีโครงสร้างเคมีเฉพาะเจาะจง ผลิตเคมีภัณฑ์/วัสดุ ที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่พิเศษ/ทางกายภาพ และมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่าเคมีภัณฑ์ทั่วไป การลงทุนเพื่อลดภาวะทางสิ่งแวดล้อม การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างหน่วยผลิต การลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชีวภาพ จากวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร และอื่นๆ เช่น การลงทุนเพื่อสร้างฐานความรู้ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในประเทศแบบไม่เคยมีมาก่อน หรือการลงทุนวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนนั้น ที่ประชุมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาข้อจำกัดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากเดิมให้มากขึ้น เช่น กรณีกิจการปิโตรเคมีควรจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในกลุ่ม เอ 1 ที่ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และลดหย่อนได้อีก 50 % เป็นเวลา 5 ปี เหมือนเดิม พิจารณาให้สิทธิประโยชน์อาร์แอนด์ดี โดยรวมการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการเดิมเป็น 200-300 % รวมถึงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2 % เป็นเวลา 8 ปี ในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยทั้งหมดนี้ จะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ภายในเดือนมกราคมนี้ เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินงานต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559