กองทุนหมู่บ้านฯรุกพัฒนา"หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา"

08 มี.ค. 2561 | 08:58 น.
กองทุนหมู่บ้านฯ ร่วมกับกระทรวงวิทย์ฯ รุกพัฒนา “หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา” สร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป้าหมายปีแรก 89 หมู่บ้าน 200 ผลิตภัณฑ์

สร้างต้นแบบหมู่บ้านแห่งอนาคต รองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมกับ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเตรียมพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เปิดตัวโครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา” และเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ MOU ของ2องค์กร

mwit3

โดยมี ดร.นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ. นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พร้อมทั้งเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนากองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ สู่การสร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ท่ามกลางเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “คลินิกเทคโนโลยี” จากทุกภาคทั่วประเทศที่มาร่วมงาน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กล่าวว่า การสร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้โครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา” เป็นการเสริมสร้างฐานของประเทศไทยให้แข็งแกร่งรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงและเชื่อมต่อกัน สู่อนาคต Thailand 4.0 วัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันหมู่บ้านให้เป็น “หมู่บ้านวิทย์” หมู่บ้านต้นแบบในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในการสร้างงาน สร้างเงินและคุณภาพชีวิต และนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลในหมู่บ้านอื่น ๆ

mwit

เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมชนบทอย่างยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 8 และ 9 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ หรือ SDG ในเป้าหมายที่ 1, 8, 9 และ 12 อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านยุทธศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก โดยฉพาะอย่างยิ่งสอดรับกับเป้าประสงค์การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งก่อตั้งมากว่า 16 ปี

ปัจจุบันมีเครือข่ายกองทุนฯ กว่า 79,595 หมู่บ้านทั่วไทย มุ่งมั่นในการเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต และเกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายโครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา”จากความร่วมมือของ 2 องค์กร ที่ตั้งไว้ คือ 1.สร้างเสริมหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 89 แห่ง ในระยะเวลา 3 ปี 2. มีผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปี 3.ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าสู่ตลาดประชารัฐไม่น้อยกว่า 200 ผลิตภัณฑ์ต่อปี 4. หมู่บ้านที่ขยายผล ไม่น้อยกว่า 40 หมู่บ้านต่อปี และ 5. ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 1:1.5 เท่า
mwit4 ด้านดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “หมู่บ้านวิทย์” มีความเป็นมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยคัดเลือก 9 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตโครงการสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อนำเทคโนโลยีไปทดลองใช้ ต่อมาในโอกาสครบ 30 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี พ.ศ.2552 ได้ต่อยอดเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และนวัตกรรมและปรับกลไกการดำเนินงานโดยใช้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) และแบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ปี

โดยหมู่บ้านใหม่ปีที่ 1 มุ่งเน้นให้ชุมชนมีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพต่าง ๆ ส่วนหมู่บ้านต่อเนื่องปีที่ 2 จะมุ่งเน้นให้ชุมชนมีความเข้าถึงการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ/มูลค่าของพื้นที่ตามเป้าหมายที่ต้องการ สำหรับหมู่บ้านปีที่ 3 มุ่งเน้นให้ชุมชนใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตประจำวัน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ชุมชน/พื้นที่ข้างเคียง และหากหมู่บ้านที่พัฒนามาแล้ว 3 ปี มีความพร้อมสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่สั่งสมมา และต่อยอดได้เองแล้วสามารถขยายผล หมู่บ้านแม่ข่ายที่จะขยายลูกข่ายปีที่ 1 - 2 เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความสนใจและต้องการเทคโนโลยี
mwit2 เป้าหมายใหญ่ของไทยแลนด์ 4.0 นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม แล้วยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสสู่ประชาชนฐานรากควบคู่ไปด้วยซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งที่จะทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้แท้จริง ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนการวางโครงสร้างอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ต่อเนื่องมาถึงโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ท่านนายกรัฐมนตรีสนับสนุนและระดมสรรพกำลังลงพื้นที่เป็นรายครัวเรือน เพื่อพัฒนาและร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างตรงความต้องการในแต่ละชุมชนท้องถิ่น

ดังนั้น โครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา” จึงเป็นการรวมพลัง2องค์กร ได้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร่วมกันเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการลงมือทำและก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน จะรุกไปข้างหน้า เสริมสร้างระบบพัฒนาคนให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเป็นนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

mwit5

ในแนวทางวิทย์...สร้างคน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย วิทย์...แก้จน แก้ไขปัญหากลุ่มเกษตรกรที่มีความสำคัญ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน วิทย์...เสริมแกร่ง พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วิทย์...สู่ภูมิภาค โดยกระจายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการแข่งขันและการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าหมู่บ้านที่มีความพร้อมเข้าร่วม“หมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา” ได้ในปีแรกประมาณ 89 แห่ง หวังว่าหมู่บ้านวิทย์ ที่มีอยู่เดิมกว่า 380 แห่ง
โดยเฉพาะหมู่บ้านวิทย์แม่ข่ายจะเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมมือกับ สถาบันการเรียนรู้ ของ กทบ.และได้ช่วยเหลือกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ยังมีความสำเร็จที่น่าชื่นชมและนำมาจัดแสดง สะท้อนถึงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เครื่องจักรระดับชุมชน และนวัตกรรม โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ส่งมอบเครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ( Heat Pump Dryer) ซึ่งประหยัดพลังงานได้กว่า 5 เท่า แก่ผู้ประกอบการ 5 ราย
mwit6 กิจกรรมหลักของโครงการ ประกอบด้วย 6 กิจกรรม ได้แก่ 1. การอำนวยการโครงการ 2. การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจร 3. การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวิทย์ 4. การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรม กิจกรรมที่ 5 การพัฒนาหมู่บ้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ 6 การติดตามและประเมินผล

ส่วน ดร.นายแพทย์ ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การอำนวยการโครงการนี้ ดำเนินการโดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำงานประสานกับกองทุนหมู่บ้านฯอย่างใกล้ชิด โดยมีแนวทาง 1. คัดเลือกพื้นที่หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมลงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ 2. คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน พึ่งพาตนเองได้

mwit7

3. การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ การสร้างเครือข่ายและสร้างหมู่บ้านลูกข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีขีดความสามารถ มีการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นตัวอย่างหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จ 4. การบริหารจัดการงบประมาณสู่เครือข่าย วท. 5. การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ และคณะทำงานอื่นที่มีการแต่งตั้งขึ้น
mwit8

mwit9

mwit10

บาร์ไลน์ฐาน

ส่วนรศ. นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ บทบาทของ กทบ. ในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี ถึงปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) เจริญก้าวหน้า มีจำนวนกว่า 79,595 กองทุน ได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนเป็นสมาชิกกว่า 13 ล้านคน จึงนับว่ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นสินเชื่อระดับย่อย (Micro-credit) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีจำนวนผู้มีส่วนร่วมมากที่สุดของประเทศไทย

มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ และความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ร้านค้าประชารัฐ, ตลาดประชารัฐ, สินค้าจากผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้าน, โรงน้ำดื่มชุมชน, แหล่งท่องเที่ยวชุมชน, สถาบันการเรียนรู้, สถาบันการเงินชุมชน โดยความร่วมมือกับภาคีภาครัฐ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเครือข่ายกว่า 80 องค์กร ร่วมพัฒนาทั้งด้านกฎหมาย ด้านระบบบัญชีการเงิน ด้านพัฒนาธุรกิจ และด้านเทคโนโลยี

ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของดิจิตัลและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของสังคมและโลก การลงนามข้อตกลง MOU ระหว่างสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครอบคลุมถึงความร่วมมือที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาสร้างเสริมหมู่บ้านวิทย์ฯ...แนวคิดศาสตร์พระราชา ร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก LOCAL ECONOMY ของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต ภายใต้ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้แก่
การทำความเข้าใจถึงความสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถ่องแท้ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้ยกระดับเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน รองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง ส่วนการติดตามและประเมินผลโครงการนี้ จะมีการติดตามการดำเนินงานราย 3 เดือน ทั้งระบบออนไลน์ และ การลงพื้นที่จริง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว