ดันครูอาชีวะบรรจุเป็นขรก. เอกชนร่วมหนุนลดภาษี200%

12 มี.ค. 2561 | 05:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สกรศ. ผุดไอเดีย ดันครูอาชีวะบรรจุเป็นข้าราชการ หวังเป็นแรงจูงใจ ปั้นคนมีฝีมือสอนหนังสือ รองรับพัฒนาบุคลากร พร้อมลุยเจรจาบีโอไอ ลดภาษี 200% ให้เอกชนที่นำเข้าอุปกรณ์ ช่วยสนับสนุนการศึกษา

นายวัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตกำลังคน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในโครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ หรือ การยกระดับอาชีวะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ว่า สกรศ. ได้เชิญผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวะ 12 แห่ง ที่อยู่ในโมเดลนำร่องมาประชุมครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังข้อเสนอปัญหาต่างๆ ในการเปิดรับนักศึกษาในสาขาวิชาที่แต่ละวิทยาลัยเสนอเข้าร่วมโครงการ ‘สัตหีบโมเดล’ เรียนอาชีวศึกษาระดับ ปวช.-ปวส. ฟรี จบออกมามีงานรองรับ เงินเดือนไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นบาทนั้น

โดยผลการประชุมทั้ง 12 สถาบันอาชีวะ มีความพร้อมในการเปิดสอนสาขาที่สถาบันตัวเองมีความชำนาญเพื่อผลิตคนป้อนตลาดแรงงานอีอีซี ซึ่งทางสำนักงาน สกรศ. จะช่วยเหลือให้การสนับสนุนเต็มที่หากมีปัญหาอะไร และเท่าที่รับฟังปัญหาพบว่า แต่ละวิทยาลัยต้องการได้รับการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เป็นครู อาจารย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนกันกับนักศึกษาด้วย ซึ่งสกรศ.ได้ยํ้าไปว่านั่นเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปอยู่แล้ว การพัฒนาครู “สกรศ.ได้ยํ้ากับ 12 วิทยาลัย ไปว่าการพัฒนาครูและอาจารย์เป็นภารกิจที่เราต้องทำอยู่แล้ว เพราะทั้งนักศึกษาและครูต้องก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมๆ กัน” นายวัชรินทร์ กล่าว

บาร์ไลน์ฐาน สำหรับแรงจูงใจให้ครูที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้าร่วมในการพัฒนาศักยภาพ จะมีการเปิดให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้ครูปัจจุบันได้ต่อยอดเทคโนโลยีที่มี นวัตกรรมใหม่ ซึ่งในการอบรมจะได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการในพื้นที่อีอีซีทั้งไทยและต่างประเทศ ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงให้ได้อบรม ซึ่งเป็นผลดีกับครูเองที่จะมีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะครูอาชีวะปัจจุบันมีความขาดแคลน ส่วนใหญ่เป็นครูอัตราจ้าง ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ทำให้เสียโอกาสที่จะมีครูที่มีทักษะที่ดีให้กับนักศึกษา ดังนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ครูใหม่หรือครูปัจจุบันที่มีศักยภาพ ผ่านการฝึกอบรม อาจได้บรรจุเข้าเป็นข้าราชการในอนาคต

“เป็นเรื่องที่สกรศ.จะต้องช่วยให้ครูอาชีวะ เข้าเป็นข้าราชการให้ได้ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่ขาดขวัญกำลังใจ เป็นครูอัตราจ้างไม่มีอนาคตแน่นอน ส่วนรายได้ของครูเมื่อเข้าระบบแล้วก็ต้องดูแลให้มีรายได้พิเศษเพื่อเป็นสวัสดิการที่ดีให้กับเขา”

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือสถานประกอบการที่ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาในอีอีซี มีเงื่อนไขว่า บริษัทใดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1% จากรายได้ ต้องนำเข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ด้วย เพื่อช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุนซื้อเครื่องมือทางการศึกษาที่มีราคาสูง ขณะเดียวกันสกรศ.จะไปเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทางด้านภาษีต่างๆ หากมีการสนับสนุนการศึกษา

“ระยะต่อไป สกรศ.ต้องไปเจรจากับบีโอไอ เรื่องภาษีส่งเสริมอุตสาหกรรม บริษัทใดที่เข้าร่วมโครงการสัตหีบโมเดล อาจจะได้ลดหย่อนภาษี 200% เพราะเขาจะต้องนำเข้าเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัย ราคาสูง เข้ามามอบให้กับวิทยาลัยอาชีวะต่างๆ เพื่อนำไปเป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียนและอบรม ซึ่งเรื่องนี้บีโอไอมีส่วนช่วยการศึกษาค่อนข้างมาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว