ครม.ยกเลิกโทษติดคุก-ลดค่าปรับจาก8แสนเหลือ1แสน ‘นายจ้าง-ต่างด้าว’เฮ

09 มี.ค. 2561 | 03:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ครม.เห็นชอบแก้พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ตัดโทษ จำคุกแรงงานผิดก.ม. พร้อมลดโทษนายจ้าง จากถูกปรับ 4-8 แสนบาท เหลือ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน แต่ห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายป้องกันค้ามนุษย์ เริ่มบังคับใช้ 1 กรกฎาคมนี้
พล.ท.สรรเสริญ แก้ว-กำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้แล้วถูกท้วงติงว่ามีโทษรุนแรงจนใช้มาตรา 44 พักการบังคับใช้ใน 4 มาตรา ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้ปรับแก้มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต จากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท โดยตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พัน-5 หมื่นบาท มาตรา 102 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากโทษปรับเดิมตั้งแต่ 4-8 แสนบาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน และใครทำผิดซํ้าซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่น-2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า บทบัญญัติใหม่จะเปลี่ยนระบบอนุญาตในบางเรื่องเป็นระบบแจ้งให้ทราบต่อเจ้าพนักงาน เช่น ในกรณีที่นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายทำงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมถึงยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของ แรงงานต่างด้าว ให้ทำงานที่ไหนพักที่ไหนก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับแก้ตามข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โทษนายจ้างและลูกจ้างที่เท่ากัน ปรับใหม่ให้ไม่เท่ากันตามความหนักเบา และนายจ้างรับเหมาแรงงานจะทำได้ต่อเมื่อมีใบสั่งจ้างงาน ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันต้นเหตุการเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ ยกเว้นค่าตรวจสุขภาพ ใบอนุญาต และค่าหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ การเก็บหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวต้องได้รับการยินยอม หากแรงงานต่างด้าวขอคืนต้องได้คืนทันที ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดมิให้นำมาตราที่ถูกพักการบังคับใช้มาบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

tp16-3346-b ++งัดมาตรการภาษีช่วยคนจน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 1.5 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ การจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่รวมถึงการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแต่ละเดือนไม่เกินกว่า 1.5 หมื่นบาท หรือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเงินได้พึงประเมินที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรเกินกว่า 1 แสนบาทในปีภาษีที่แล้ว

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ โดยกระทรวงการคลัง ประเมินว่า มาตรการภาษีดัง กล่าวจะทำให้รัฐสูญรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้การจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นที่ประชุมครม. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 เป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยการขอขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ภายใต้กรอบวงเงินเดิม

ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการเร่งรัดการเบิกจ่ายสินเชื่อให้ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการลงทุนในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว