งัด 'พรก.คุมเงินดิจิตอล' คลังส่งร่าง ก.ม. ถึงมือ 'วิษณุ' - ตีทะเบียนผู้ซื้อ-ขาย

07 มี.ค. 2561 | 13:35 น.
1957

‘คลัง’ เตรียมเสนอ ครม. ออก พ.ร.ก.กำกับการซื้อ-ขายเงินดิจิตอล เผย ส่งร่างกฎหมายถึงมือ ‘วิษณุ’ แล้ว หวังคุมเข้มฉ้อโกงประชาชน-แชร์ลูกโซ่ ดึง ปปง. ร่วมสอบฟอกเงิน ด้าน สรรพากรจ่อเก็บภาษีเพิ่ม

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลมาตรการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญ ICO : Innitial Coin Offering หรือ สกุลเงินดิจิตอล ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและมีความเสี่ยงต่อการลงทุน จึงต้องหาแนวปฏิบัติเพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน


13 มี.ค. ชง พ.ร.ก.เงินดิจิตอล
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน หรือ ปปง. และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมประชุมพิจารณามาตรการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการออก ‘ไอซีโอ’ และมีความเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดคำนิยามของ ‘ไอซีโอ’ ที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายขึ้นมา 1 ฉบับ เพื่อกำหนดคำนิยามของ ‘ไอซีโอ’ ให้ชัดเจนว่า เป็นสินทรัพย์หรือตราสารประเภทใด กฎหมายที่จะออกมาจะกำหนดอำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการออกใบอนุญาตให้ผู้ระดมทุนและผู้ขายโทเคน โดยจะมีการขึ้นทะเบียนทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หลังเอกชนขอระดมทุนจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นจะให้เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่จะกำกับดูแลในเรื่องนี้ แต่ถ้า ก.ล.ต. ไม่สามารถกำกับดูแลได้ก็จะให้ ธปท. เข้ามาดูแลแทน

 

[caption id="attachment_261943" align="aligncenter" width="335"] วิษณุ เครืองาม วิษณุ เครืองาม[/caption]

“กระทรวงการคลังได้หารือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้วมีความเห็นว่า ออกเป็น พ.ร.ก. จะเหมาะสมมากกว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเนื้อหาทั้งหมดใน พ.ร.ก. คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ในวันที่ 13 มี.ค. นี้ หรืออย่างช้าภายในเดือน มี.ค. นี้” แหล่งข่าวกล่าว


ถกคุม ‘ไอซีโอ’ 8 มี.ค.
นายภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัย กล่าวว่า การประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย พยายามหาแนวกำกับภาพรวมครบวงจร โดยคณะทำงานทั้ง 4 ฝ่าย มีการประชุมหารือต่อเนื่องถึงวันอังคารและวันพุธที่ 6-7 มี.ค. ที่กระทรวงการคลัง ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 8 มี.ค. เป็นการประชุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ก.ล.ต.) ซึ่งกำหนดวาระบางส่วนเรื่องการระดมทุนและสินทรัพย์ที่นำมาลงทุน

ส่วนของ ธปท. เป็นการเตรียมกฎหมายรองรับเรื่องระบบชำระเงินและการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ ปปง. มุ่งในประเด็นการฟอกเงิน ส่วนกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ เมื่อมีข้อสรุปชัดเจน ในส่วนของกรมสรรพากรก็จะเข้ามาดูว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีเมื่อใด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีส่วนร่วมพิจารณากรณีประชาชนต้องการร้องเรียนต้องติดต่อหน่วยงานใด

“สำหรับแนวทางกำกับที่ยังไม่เกิดขึ้นนั้น ธปท. ยังไม่มองว่า การเสนอขายเหรียญดิจิตอลเป็นระบบชำระเงิน ซึ่งคนรับหรือจ่ายเงินต้องดูแลและรับความเสี่ยงกันเอง และการที่ ธปท. สงวนท่าที เพราะมีคนใช้จำกัด ส่วนใหญ่การระดมทุนด้วยการออกหุ้นหรือออก ICO ก.ล.ต. ปปง. พยายามให้มีพื้นที่ชัดเจนและเตือนความเสี่ยงได้”

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กำลังศึกษาเรื่องภาษีที่จะจัดเก็บและเข้าร่วมประชุมกับทุกคณะ แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ชัดเจนในตอนนี้ ขอเวลาอีกระยะ


บาร์ไลน์ฐาน

เกาะติดเงินดิจิตอล
ด้านแหล่งข่าวในวงการเงินให้ความเห็นว่า การที่ ธปท. ขอความร่วมมือ 5 เรื่อง จากธนาคารในระบบไม่ให้บริการเกี่ยวกับการทำธุรกรรม ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ นั้น เชื่อว่า ธปท. มีจุดประสงค์ เพราะธนาคารชาติบางแห่งที่มีการยอมรับแล้ว แต่ก็ยังมีธนาคารชาติอีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างศึกษาเช่นกัน

“ตอนนี้ ธปท. ศึกษาคริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่ ธปท. ไม่รู้เรื่องระบบการชำระเงินแบบใหม่ แต่ ธปท. ต้องดูเสถียรภาพการเงินไทย จะถูกกระทบด้านไหนบ้าง ซึ่งเชื่อว่า ขณะนี้ ธปท. มีการมอนิเตอร์ เพราะเคยเห็นเคสในจีนที่มีการออกขายเหรียญดิจิตอลมาและให้บริการเร็ว โดยที่ธนาคารกลางยังไม่เข้ากำกับจนเกิดความเสียหายจากปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ”


ระดมทุน ICO เหลว 59%
นายปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เชื่อว่า 90% ของคนไทยที่เข้าไปลงทุนเงินสกุลดิจิตอล ทั้งบิตคอยน์ หรือการลงทุนในโครงการระดมทุน ICO ไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลที่แท้จริง แต่เป็นการเข้าไปลงทุนตามกระแส ภายหลังจากที่เห็นผู้ที่ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูงจากการเข้าไปลงทุนเงินสกุลดิจิตอล และโครงการระดมทุน ICO ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเงินดิจิตอลให้กับประชาชน ขณะที่ นักลงทุนจะต้องมีการศึกษาข้อมูลของโครงการที่เข้าไปลงทุน

“ในเกาหลีปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘อาซูม่า’ ที่กลุ่มผู้สูงอายุกระโดดลงมาลงทุนบิตคอยน์ เพราะความโลภบางรายกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน ท้ายสุดประสบปัญหา จนรัฐบาลสั่งหยุดซื้อขายเงินเหรียญคริปโตฯ ในประเทศ หรือการปิดเว็บไซต์ผู้ให้บริการซื้อขายเหรียญคริปโตฯ ขณะที่ข้อมูลจาก bitcoin.org พบว่า ตลอดปี 2560 มีการระดมทุน ICO ทั้งสิ้น 902 โครงการ และ 59% ประสบความล้มเหลว โดยมี 102 โครงการ ระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย, 276 โครงการ ไม่ได้เงินแล้วทิ้งโครงการ, อีก 133 โครงการ แจ้งว่า ยังดำเนินการอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อทีมงานได้ ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นมีมูลค่ารวม 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ



6 ความเสี่ยงระดมทุน ICO
สำหรับปัจจัยความเสี่ยงของการลงทุนเหรียญคริปโตฯ และโครงการระดมทุน ICO มี 6 รูปแบบ คือ 1.ความเสี่ยงที่ไม่มีกฎหมายรองรับและกำกับดูแล 2.ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย 3.ความเสี่ยงต่อการรับประกันการลงทุน 4.การฉ้อโกง 5.ความเสี่ยงด้านความผันผวนของตลาด โดยในปี 2557 ราคาบิตคอยน์ลดลง 61% และในปี 2558 ราคาลดลง 80% และ 6.ความเสี่ยงด้านภาษี

นายปริญญา หอมอเนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า การซื้อขายเงินสกุลดิจิตอล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี และการระดมทุนโครงการ ICO เป็นกระแสโลก และเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ การพลิกผันจากดิจิตอล ซึ่งไทยไม่สามารถปฏิเสธกระแสดังกล่าวได้ โดยแนวคิดการระดมทุนในโครงการ ICO ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่มีผู้อาศัยกระแสดังกล่าวในการฉ้อโกง หลอกลวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งให้ความรู้กับประชาชน

โครงการระดมทุน ICO มีมุมดีที่เปิดให้สตาร์ตอัพ หรือเอสเอ็มอี ที่มีโครงการดี ๆ และไม่มีความสามารถกู้เงินจากธนาคารหรือแหล่งเงินทุน สามารถใช้วิธีการระดมทุนผ่าน ICO ได้ ทั้งนี้ เห็นด้วยที่ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุม เพื่อลดกระแสความร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาครัฐไม่ควรเข้ามาควบคุมมากไป เพราะท้ายสุดไม่เกิดเทคโนโลยีใหม่ในประเทศ และผู้ให้บริการเงินดิจิตอลจะหนีออกไปต่างประเทศหมด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8-10 มี.ค. 2561 หน้า 02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว