ทุนใหญ่ลง‘มาบตาพุด3’ กลุ่มปตท.เครือกัลฟ์นำทัพ ผุดท่าเรือและคลังแอลเอ็นจี

08 มี.ค. 2561 | 04:30 น.
เอกชนยื่นเจตจำนงร่วมลงทุนกับกนอ.พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 แล้ว 3-4 ราย มีทั้งกลุ่ม ปตท. เครือกัลฟ์ และนทลีน ทำท่าเรือและคลังก๊าซแอลพีจีและแอลเอ็นจี มูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท คาดเปิดทีโออาร์พีพีพีได้มิ.ย.ปีนี้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถือเป็น 1 ในโครงการเร่งด่วนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งได้จัดส่งรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) พิจารณาไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งรายละเอียดในบางประเด็นเพิ่มเติม ตามที่สผ.ขอมา โดยจะเร่งให้มีการพิจารณาแล้วเสร็จและอนุมัติได้ไม่เกินเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันกับการออกทีโออาร์เชิญชวนผู้สนใจมาลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนกับเอกชนหรือพีพีพีในเดือนมิถุนายน 2561 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการดำเนินงานไว้

[caption id="attachment_249989" align="aligncenter" width="503"] วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม[/caption]

สำหรับการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน งานขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โดยมูลค่าลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 11,000 ล้านบาท

สำหรับส่วนที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือ บนพื้นที่ถมทะเลเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า โดยแบ่งเป็น ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าชธรรมชาติ 150 ไร่ (หรือรวมเรียกว่า Superstructure) ประมาณ 100,000 ล้านบาท

TP11-3345-A นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า จากกรอบการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้มีนักลงทุนและบริษัทเอกชนได้ให้ความสนใจ และแสดงความจำนงมายังกนอ.แล้วที่จะเข้าร่วมลงทุน 3-4 ราย เช่น บริษัทในกลุ่มปตท. บริษัท ไทย แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด บริษัทในกลุ่มกัลฟ์ บริษัท นทลีน จำกัด เป็นต้น เพื่อดำเนินการจัดสร้างพื้นที่จัดเก็บถังสารเคมี(Liquid Chemical Tank farm) และถังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG Storage Tank) รวมทั้งพร้อมที่จะดำเนินกิจการบริหารจัดการท่าเรือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อลงทุนโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) บนพื้นที่จำนวนประมาณ 200 ไร่

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา และวิเคราะห์รายละเอียดและเงื่อนไขสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐอยู่ เพื่อนำเสนอกนศ.ให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นถึงจะประกาศทีโออาร์ได้ และหาผู้ชนะหรือลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนตุลาคมปีนี้ หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2567

บาร์ไลน์ฐาน ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเรือมาบตาพุดมี 12 ท่าเรือย่อย ประกอบด้วยท่าเรือเฉพาะ 9 ท่า และท่าเรือสาธารณะ 3 ท่า สามารถขนถ่ายสินค้าโดยรวมประมาณ 43 ล้านตันต่อปี โดย 57% เป็นการขนถ่ายนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ (Liquid Natural Gas; LNG) ในอนาคตจะมีความต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) เพิ่มขึ้นประมาณ 16-32 ล้านตันต่อปี เกินความสามารถปัจจุบันที่รองรับได้เพียง 10 ล้านตันต่อปี และเชื่อว่าจะมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบเหลว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีท่าเรือสาธารณะขนถ่ายวัตถุดิบเหลว เพียง 1 ท่า โดยปัจจุบันใช้งานเต็มความจุแล้ว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว