“อดุลย์”เร่งพัฒนาแรงงานรับ10อุตฯต้องการ7หมื่นคน/ปี

02 มี.ค. 2561 | 10:44 น.
“อดุลย์”เผยพัฒนาแรงงานรับ 10 อุตสาหกรรม ชี้ ต้องการเกือบ 7 หมื่นคน/ปี

2 มีนาคม- พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการจัดงาน “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”ประจำปี 2561 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ รวมทั้งเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” และให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

รวมถึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมาตรฐานฝีมือแรงงานสู่สาธารณชน โดยกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”ด้วย เป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านการช่าง รวมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีมาตรฐาน

adul

โดยพล.ต.อ.อดุลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกิจกรรมวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 ว่า ประกอบด้วย พิธีถวายพระราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทยโดยเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 148 หน่วยงานเข้าร่วมพิธี จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”และการจัดงานในครั้งนี้ จัดพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด

ส่วนการพัฒนาทักษะนั้น มุ่งเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยทุกกลุ่ม เพื่อสนองต่อความต้องการแรงงานไทยในทุกอุตสาหกรรม ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศระยะ 20 ปี (พ.ศ .2560–2579) ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

บาร์ไลน์ฐาน

รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพแรงงาน รองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในส่วนแรงงานในกลุ่ม First S-curve และ New S- Curve ใน 10 อุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2560–2564 ซึ่งพบว่า มีความต้องการแรงงานในภาพรวมเฉลี่ยเกือบ 70,000 คน/ปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ส่วนการดำเนินการเตรียมแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้สำรวจความต้องการอย่างจริงจังและสามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต EEC รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว