'ยักษ์รัสเซีย' ลุย! จับคู่ปักฐาน 'อีอีซี'

23 ก.พ. 2561 | 07:46 น.
1422

41 บริษัทยักษ์ใหญ่ ‘แดนหมีขาว’ บุกไทย! ลุยหาคู่ธุรกิจ-ลงทุนใน ‘อีอีซี’ ทั้งด้านอากาศยาน, การบิน, โลจิสติกส์, พลังงาน, การแพทย์, ยา, หุ่นยนต์ และไบโอเทคโนโลยี ด้าน ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย มั่นใจ! ปักฐานแน่ หลัง พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านสภา จับตาทัพธุรกิจจีน ยุโรป อเมริกา ชักแถวต่อคิว

จากที่นักธุรกิจคณะใหญ่สุดจาก ‘รัสเซีย’ มีแผนเดินทางเยือนไทย เพื่อดูลู่ทางการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในกลางเดือน ม.ค. แต่ได้เลื่อนเป็นระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. 2561 นั้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคธุรกิจของรัสเซียที่มาครั้งนี้เป็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 41 บริษัท ภายใต้การนำของ นายอเล็กซี กรุสเดฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจแห่งรัสเซีย โดยส่วนใหญ่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้มีการลงทุนในอีอีซี ทั้งสาขาพลังงาน, การสื่อสาร, การบิน, อากาศยาน, โลจิสติกส์, การแพทย์สมัยใหม่, ยา, ไบโอเทคโนโลยี, ดิจิตอล อีโคโนมี, อุตสาหกรรมก่อสร้าง และยานยนต์ เป็นต้น


TP2-3342-3

สำหรับไฮไลต์ที่สำคัญในวันที่ 21 ก.พ. นอกจากทางฝ่ายรัสเซียจะได้นำเสนอข้อมูลโอกาสการลงทุนในรัสเซีย และฝ่ายไทยจะได้นำเสนอข้อมูลโอกาสการลงทุนในอีอีซีแล้ว จะมีการจัดเสวนาโต๊ะกลม และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (บิสิเนส แมตชิ่ง) ระหว่างภาคเอกชนของรัสเซียในสาขาต่าง ๆ กับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ทางฝ่ายรัสเซียได้แจ้งความประสงค์ขอพบเพื่อต้องการเจรจาธุรกิจกับทางฝ่ายไทยมาล่วงหน้า อาทิ ซุคฮอย ซีวิล แอร์คราฟท์ (เอสซีเอซี) ผู้ผลิตเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ ที่เคยขายเครื่องบินให้กองทัพไทยมาแล้ว (มีสัญญาส่งมอบถึงปี 2561) ต้องการเจรจาธุรกิจกับบริษัทไทยที่สนใจ รวมถึงกระทรวงคมนาคม, บริษัท รัสเซียน เรลเวย์สฯ ติดอันดับท็อป 3 ผู้ผลิตรางรถไฟระดับโลก และเชี่ยวชาญการออกแบบและก่อสร้างทางรถไฟ ต้องการเจรจาธุรกิจกับการรถไฟแห่งประเทศไทย, ทรานส์แมชโฮลดิ้ง, ผู้ผลิตหัวรถจักร, รถไฟดีเซล, ตู้โดยสารรถไฟ, ตู้สินค้ารถไฟ, มอเตอร์ดีเซล ฯลฯ ต้องการเจรจากับการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม

‘วีเรียม’ ในเครือเซมราร์ ผู้ผลิตยาต้านการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี สนใจมาตั้งโรงงานผลิตยาในไทย ต้องการเจรจากับองค์การเภสัชกรรม, ‘เฟสโก้’ ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ท่าเรือและรถไฟ มีแผนจะทำเอ็มโอยูกับท่าเรือแหลมฉบัง ต้องการเจรจากับบริษัทไทยที่สนใจและกระทรวงคมนาคม, ‘เมทิซ อิมเพ็กซ์’ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ แขนกล ฯลฯ สนใจเปิดตลาดในไทยในส่วนของอวัยวะเทียมทางการแพทย์และหุ่นเพื่อการวิจัย ต้องการเจรจาธุรกิจกับหลายองค์กร เช่น ศูนย์สิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และบริษัท สามพรานอินเตอร์เนชั่นแนล และไบโอแคด บริษัทด้านไบโอเทคโนโลยี สนใจและต้องการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทย เป็นต้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“ล่าสุด มีบริษัทเอกชนของไทยที่จะเข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับทางรัสเซียแล้ว 40-50 บริษัท โดยบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซีพี, เอสซีจี, ปตท., บ้านปู, ไทยเบฟฯ ส่วนวันที่ 22 ก.พ. ทางคณะรัสเซียจะลงพื้นที่อีอีซี เพื่อดูความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและดูลู่ทางโอกาสการลงทุนในอีอีซี ซึ่งมั่นใจว่า ลงพื้นที่ครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจให้ทางคณะของรัสเซีย ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน ซึ่งคณะรัสเซียถือเป็นคณะแรกที่เข้ามาดูอีอีซี หลัง พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และคาดจะมีคณะใหญ่จากจีน ยุโรป และอเมริกา ตามมาในอนาคต เพราะเขาไม่อยากตกขบวน”

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา การลงทุนของรัสเซียในไทยยังมีไม่มาก เพราะในอดีตรัสเซียมุ่งเน้น Look West หรือ เน้นหนักการลงทุนในยุโรปและอเมริกา แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัสเซียถูกแซงก์ชันจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงได้เปลี่ยนนโยบายเป็น Look East หรือ มองตะวันออก คือ เอเชีย ซึ่งไทยเป็น 1 ในประเทศที่รัสเซียให้ความสนใจมากในเวลานี้

สอดคล้องกับ นางจันจิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แม่งานร่วมจัดงาน Russia-Thailand Business Forum กล่าวว่า ไทยและรัสเซียมีศักยภาพที่จะขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกัน โดยมีหลายสินค้าที่รัสเซียมีความต้องการจากไทย ขณะที่ รัสเซียมีเทคโนโลยีชั้นสูงในหลากหลายสาขาที่จะมาลงทุนในไทยได้ ในอนาคตการค้า-การลงทุน 2 ฝ่าย จะขยายตัวได้อีกมาก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22-24 ก.พ. 2561 หน้า 02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว