โชวห่วยตีปีก! กทบ. ขอเอี่ยว 'แบงก์เอเยนต์'

08 มี.ค. 2561 | 12:47 น.
1943

แบงก์-ร้านสะดวกซื้อ ‘เครือเซ็นทรัล-เซเว่นฯ’ ขานรับแบงก์ชาติปลดล็อก ‘แบงก์เอเยนต์’ ... ‘กรุงศรี-ทหารไทย’ เร่งศึกษา คาด 3 เดือน ได้ข้อสรุป เฟ้นตัวแทน คุมความเสี่ยง และเข้มคุณภาพ ... กทบ. ตีปีก! คัดกองทุนหมู่บ้านฯ-ร้านค้าชุมชน เข้าร่วม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งตัวแทนการให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) มาตั้งแต่ปี 2553 โดยเปิดให้ธนาคารพาณิชย์มาขออนุญาตการตั้ง ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ ได้

ล่าสุด ธปท. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลในเดือน มี.ค. โดยหลักเกณฑ์ใหม่ ธนาคารไม่ต้องขออนุญาตจัดตั้ง ‘แบงก์เอเยนต์’ เพียงส่งแผนงานการบริหารจัดการสาขาโดยรวม ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารให้ ธปท. เท่านั้น


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ส่วนคุณสมบัติ ‘แบงก์เอเยนต์’ เดิมที่จะอนุญาตให้เฉพาะธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก็จะเพิ่มเติมให้นิติบุคคล เช่น สหกรณ์ ร้านสะดวกซื้อ กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง (กทบ.) หรือ ร้านค้าชุมชน ทำหน้าที่ ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ ได้

‘แบงก์เอเยนต์’ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับฝากเงิน รับถอนเงิน โอนเงิน รับชำระเงิน จ่ายเงิน (Paying Agent) และในกรณีอื่นโดยกรณีรับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อย กำหนดให้บริการไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ หรือ 2 หมื่นบาทต่อวันต่อราย


Khun Pornsanong_03

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทุกแบงก์ดูอยู่ ตอนนี้ขอรายละเอียดตามกฎหมาย และต้องคุยกับ ธปท. เรายังไม่เริ่มใช้ กำลัง Test เรื่องความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า ดูถึงเครือข่ายการเชื่อมโยงกันเป็นอย่างไร ซึ่งภายใน 3 เดือน จะเห็นมากขึ้น ขณะที่ เรื่องเทคโนโลยี ดิจิตอล จะเป็นตัวผลักดัน ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ ลงในจุดที่ไม่มีเครือข่ายสาขากรุงเทพฯ และรอบ ๆ เป็นหลัก”

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในทางปฏิบัติธนาคารต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น การคัดเลือกตัวแทนต้องดูรายละเอียดของหลักเกณฑ์ใหม่ด้วย

น.ส.ชมภูนุช ปฐมพร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสาขา ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ต้องขอศึกษารายละเอียด หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดตั้ง ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ ลูกค้าได้รับประโยชน์ก็มีความสนใจจะทำ แต่หากทำแล้วลูกค้าไม่ได้รับประโยชน์จากเดิมมากนัก อาจจะไม่สนใจ

 

[caption id="attachment_107728" align="aligncenter" width="335"] รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) รศ.นที ขลิบทอง
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.)[/caption]

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กล่าวว่า หากมองในแง่คุณภาพและปริมาณ เชื่อว่า ทั้งกองทุนหมู่บ้าน 7.9 หมื่นกองทุน และร้านค้าประชารัฐ 1.9 หมื่นแห่ง สามารถรองรับการเป็นตัวแทนของแบงก์ได้ แต่ต้องมีกระบวนการกลั่นกรองเฉพาะกองทุนและร้านค้าที่มีศักยภาพ ก่อนที่จะเสนอตัวเป็นตัวแทน

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีก กล่าวว่า การเปิดให้ ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ ได้นั้น ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งมีร้าน 7-11 มากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และยังมีร้านค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็น ซีพี, เฟรชมาร์ท, แม็คโคร และร้านเครือข่ายของทรู ฯลฯ ถือเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถให้บริการเบิกถอน ฝากเงิน และทำธุรกรรมการเงินได้อย่างทั่วถึง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่แสดงความสนใจ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ มีร้านเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเป็นผู้บริหารร้านแฟมิลี่มาร์ท และร้านอื่น ๆ อาทิ ท็อปส์, เคเอฟซี, มิสเตอร์โดนัท, ห้างเซ็นทรัล และห้างโรบินสัน ฯลฯ และล่าสุด ยังรุกช่องทางค้าผ่านออนไลน์ รวมทั้งให้บริการเซ็นเพย์ ธุรกิจรับชำระค่าสาธารณูปโภค และอื่น ๆ เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22-24 ก.พ. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว