เทสลาขาดทุนหนัก ‘โมเดล3’ช้ากว่าเป้า

24 ก.พ. 2561 | 04:32 น.
เทสลาขาดทุนอลังการ 675 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 21,600 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดขาด ทุนรวมตลอดทั้งปีเกือบแตะ 2,000 ล้านดอลลาร์ สาเหตุหลักมาจากความล่าช้าในการผลิตรถอีวีรุ่น “โมเดล 3” ออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม กรณีของเทสลาเป็นเรื่องน่าสนใจและแตกต่างจากบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องหลายไตรมาสรายอื่นๆ ตรงที่แม้ยอดขาดทุนจะสูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่รายได้รวมของบริษัทก็สูงมากเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับเกือบๆ 12,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 3.8 แสนล้านบาท) บริษัทมีรายได้หลายทางทั้งจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (ทั้งขายและให้เช่า) และจากอุปกรณ์ผลิตและกักเก็บพลังงาน เช่น แผ่นกระเบื้องโซลาร์รูฟผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด และแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าขนาดครัวเรือน รายได้ที่สูงมากและยอดขาดทุนที่สูงมากเช่นกันสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนต้องการซื้อสินค้าของเทสลา แต่จุดรั่วก็คือ บริษัทยังใช้จ่ายสูงมากเกินความสามารถในการหารายได้

[caption id="attachment_261378" align="aligncenter" width="503"] อีลอน มัสค์ อีลอน มัสค์[/caption]

นายอีลอน มัสค์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลา กล่าวมาตลอดว่า การขาดทุนของบริษัทจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น บริษัทจะประหยัดมากขึ้นและทำผลประกอบการให้ดีขึ้นในปีนี้ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาเคยพูดไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วเช่นกัน และก็สามารถทำกำไรรายไตรมาสในปี 2559 เป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็กลับเข้าสู่ภาวะขาดทุนเหมือนเดิม นักวิเคราะห์เชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นคือบริษัทต้องเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น “โมเดล 3” ออกมาให้ทันตามแผน รถรุ่นนี้บริษัทกำหนดให้เป็นรถอีวีรุ่นราคาประหยัดที่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของตลาดในวงกว้าง การเปิดตัวโมเดล 3 ในเดือนกรกฎาคม 2560 มีเสียงตอบรับที่ดี แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ไม่สามารถผลิตรถส่งมอบลูกค้าได้ตามความต้องการ นับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงก่อนหน้านี้ไม่นาน บริษัทผลิตรถส่งมอบลูกค้าไปได้เพียง 266 คันเท่านั้น เป็นผลมาจากปัญหาคอขวดในสายการผลิต และในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เทสลาก็เพิ่มส่งมอบรถรุ่นโมเดล 3 ไปได้เพียง 1,550 คันเท่านั้น

แม้ว่าในช่วงต้นปี ผู้บริหารของเทสลาจะออกมาระบุว่า สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตรถรุ่นโมเดล3 เป็น 2,500 คันต่อสัปดาห์ และเพิ่มเป็น 5,000 คันต่อสัปดาห์ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 แต่นักลงทุนก็ยังไม่ค่อยมั่นใจมากนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีลอน มัสค์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของเทสลาคือโรงงานผลิตทั้งที่เมืองฟรีมอนต์ และเมืองสปาร์กในรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ขนาดที่เรียกว่า กิกะแฟกตอรี สายการผลิตที่เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติจะสามารถผลิตรถโมเดล 3 ได้เร็วกว่าสายการผลิตที่เป็นแบบอัตโนมัติ 100%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว