โรงกลั่น/ปิโตรเคมียังไปได้ดี ไออาร์พีซีลุยเอเวอเรสต์ทำกำไร2.9หมื่นล้านบาท

16 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้สินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะได้รับผลกระทบด้านราคาที่ปรับตัวลดลงไปด้วยนั้น แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจที่ได้อานิสงส์จะตกอยู่กับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ที่มีผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี จากราคาส่วนต่างของวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์(สเปรด) บวกกับกำไรที่ได้จากค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเช่นกัน

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ถือเป็นบริษัทหนึ่ง ที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีควบคู่กันไป ดังนั้นในปี 2559 นี้ คงต้องมาติดตามต่อไปว่าการดำเนินงานของไอออาร์พีซี จะมีทิศทางเป็นอย่างไรภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันยังเป็นเช่นนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงทิศทางราคาน้ำมันและการดำเนินงานในปีนี้

[caption id="attachment_26529" align="aligncenter" width="500"] สุกฤตย์ สุรบถโสภณ สุกฤตย์ สุรบถโสภณ[/caption]

มองทิศทางราคาน้ำมัน

นายสุกฤตย์ กล่าวว่า ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีขึ้นตรงกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) หากจีพีดีเติบโตย่อมทำให้ความต้องการใช้น้ำมันและสินค้าปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคาดการณ์จีดีพีของประเทศไทยในปี2559 จะเติบโต 3.2% จากปีก่อน

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปีนี้ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยเฉพาะการตัดสินใจของประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันส่งออกรายใหญ่ของโลกว่าจะยอมปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 1-2 ล้านบาร์เรลหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะหากมีการปรับลดลงจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น ขณะที่การผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาน(เชลล์ออยล์)จากสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตประมาณ 1-9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน น่าจะทยอยลดลง เนื่องจากต้นทุนสูงเฉลี่ย 40-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ดังนั้นในช่วงราคาน้ำมันดิบตกต่ำเชลล์ออยล์คงต้องหยุดผลิตโดยประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 40-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากยังปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีผู้คุมราคาน้ำมันก็จะอยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

โรงกลั่น-ปิโตรเคมีรับอานิสงส์

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในธุรกิจปิโตรเคมีลดลง ซึ่งไออาร์พีซีมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงอยู่ที่ 6-7% ของต้นทุนรวม เมื่อราคาน้ำมันยิ่งถูกลงยิ่งเป็นประโยชน์กับธุรกิจปิโตรเคมีเพราะราคาวัตถุดิบถูกลง ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์ลดลงช้ากว่าเกือบทุกตัว

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยพบว่ายอดใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเติบโตมากกว่า 10% ส่วนยอดใช้ดีเซลโต 4% จากปีก่อน ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ ดังนั้นแม้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 จะมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันบ้าง แต่โดยภาพรวมทั้งปีก็ยังมีกำไร ส่วนหนึ่งกำไรมาจากธุรกิจปิโตรเคมีเข้ามาทดแทนด้วย ส่วนในปี 2559 ตั้งเป้าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน อีกทั้ง การเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ด้วยการเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญทั้งน้ำมันและปิโตรเคมี เพราะปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีโรงงานปิโตรเคมี ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งธุรกิจโรงกลั่นจะเติบโตขึ้น เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนจะมีความต้องการใช้มากขึ้น แต่โรงกลั่นในอาเซียนยังมีจำกัด อาจทำให้ภูมิภาคเอเชียขาดแคลนน้ำมันได้ ถือเป็นโอกาสที่ไออาร์พีซีจะส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น

ลุยเอเวอเรสต์ทำกำไร 2.9 หมื่นล้าน

นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่จะต้องเร่งดำเนินการในปีนี้ จะเป็นโครงการปรับปรุงคุณภาพการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) มูลค่าเงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ ทำให้การกลั่นรวมเพิ่มขึ้น 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากโครงการนี้จะได้แนฟทาเพิ่มขึ้นจากเดิม 16% เป็น 21% ,แก๊สโซลีนจาก 5% เป็น 10% ,ขณะที่น้ำมันเตาจะลดลงจาก 23% เหลือเพียง 8% ,แอลพีจี จาก 2% เป็น 5% ,ดีเซล จาก 40% เหลือ 38% และมีโพรพิลีนเพิ่มขึ้น 6% จากปัจจุบันผลิตได้น้อยมาก ทำให้ความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) กำลังการผลิต 3 แสนตันต่อปี จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2560 ดังนั้นหากโครงการ UHV แล้วเสร็จจะทำให้ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันแข็งแรง และหากโครงการ PP แล้วเสร็จจะทำให้ปิโตรเคมีแข็งแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการที่สำคัญ อย่างโครงการเอเวอเรสต์ (EVEREST) ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในทุกด้านต่อเนื่องจากโครงการเดลต้าที่สิ้นสุดลง ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่มากนักหรือไม่เกิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ทำการประเมินและวิเคราะห์หาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้บริษัท สู่ระดับ Top Quartile เพื่อเป็นบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชียภายในปี 2563

โดยโครงการเอเวอเรสต์ ครอบคลุมการดำเนินงาน 5 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.การผลิต 2.การตลาดและการขาย 3.การจัดซื้อจัดจ้าง 4.การบริหารจัดการด้านการเงินและธุรการและ 5.การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านงานบุคคลในทุกมิติ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเอง รวมถึงการสร้างกระบวนการทางความคิด ค่านิยมองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร จะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้นหากสำเร็จจะช่วยเพิ่มกำไรในปีนี้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และในปีถัดไปคาดว่าจะทำกำไรให้บริษัทได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี(อีบิตดา) เพิ่มเป็น 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เทียบกับปี 2558 คาดว่าจะกำไรทั้งหมดน่าอยู่ที่กว่า 1.7 หมื่นบ้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของไออาร์พีซีในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะยังไม่มีเกิดขึ้น แต่จะเน้นนำกำไรจากการดำเนินงานมาชำระคืนหนี้เงินกู้เพื่อเพิ่มเครดิตเรตติ้งของบริษัท และหากมีเงินเหลือก็จ่ายปันผล เนื่องจากต้องการให้โครงการขยายกำลังการผลิต PP 3 แสนตันต่อปีแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2560 ก่อน จากนั้นจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการลดต้นทุนเชื้อเพลิงจากปัจจุบันอยู่ที่ 6-7% เหลือ 5-6% ของต้นทุนรวมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำจึงยังไม่จำเป็นต้องรีบเร่งทำในช่วงนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีน (PX) 1.7 ล้านตันต่อปี จากเดิม 1.2 ล้านตันต่อปี ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยจะนำรีฟอร์เมตจากไทยออยล์ และพีทีทีจีซี รวมกับอะโรแมติกที่ได้จากโครงการ UHV มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพาราไซลีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ ซึ่งจะลงทุนหลังปี 2561 ขณะที่บริษัทกำหนดงบลงทุนใน 5 ปี (2559-2563) อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2559 จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ยังใช้ในโครงการต่อเนื่อง UHV และโครงการขยายกำลังการผลิต PP อีก 3 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดเล็กๆ อาทิ โครงการปรับปรังต่างๆ ใช้เงินลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท

สำหรับโครงการที่ไออาร์พีซีจะร่วมกับบริษัท นิปปอน เอแอนด์แอลฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในบริษัท ไออาร์พีซี เอแอนด์แอลฯ เพื่อผลิตพลาสติกเอบีเอส โดยนิปปอน เอแอนด์แอล ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 แสนตันต่อปี เพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายใน 5 ปี เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนแทนที่จะนำเม็ดพลาสติกเอบีเอสจากญี่ปุ่นที่มีต้นทุนสูงมาจำหน่าย โดยบริษัท พร้อมที่จะให้นิปปอนเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 35% เป็น 49% โดยต้องตกลงกับบริษัท ซูมิไทยฯ ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 5% เพราะไออาร์พีซียังคงถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51% จากปัจจุบันถืออยู่ 60%

นอกจากนี้ไออาร์พีซียังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท RCC Rokita Sa จากประเทศโปแลนด์ ผู้ผลิตพลาสติกโพลิออลชั้นนำจากประเทศโปแลนด์ ให้ช่วยด้านการตลาดและเทคโนโลยี โดยพันธมิตรโปแลนด์สนใจที่จะเข้ามาถือหุ้นในโรงงานดังกล่าว 50% หรือคิดเป็นมูลค่า 250 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันต่อปี แต่เดินเครื่องจักรได้เพียง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559