ซอยคลื่น 1800 เข้าทาง 'ดีแทค'

19 ก.พ. 2561 | 10:14 น.
1645

วงในชี้! กสทช. ซอยคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบ เอื้อประโยชน์ ‘ดีแทค’ เหตุมีผู้ใช้บริการ 5 แสนเลขหมาย ในระบบสัมปทานของ ‘แคท’ ... จับตา! หากมีการเปลี่ยนแปลง ‘เอไอเอส-ทรู’ ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ เพราะคลื่นที่ 15 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้มาก่อน ราคาแพงเว่อร์

แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับมติของอนุกรรมการกลั่นกรองงานทางด้านโทรคมนาคมของ กสทช. เสนอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิม 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบ มาเป็น 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นตามมา

กระทั่งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ลดแรงกดดันกับข้อกังขาที่ว่า คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงรักษาการระหว่างรอการสรรหาชุดใหม่ สามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลได้หรือไม่ จึงให้ส่งเรื่องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ว่า มีอำนาจดำเนินการหรือไม่ หากภายใน 1-2 เดือน ยังไม่มีคำตอบ กสทช. จะทบทวนการเปิดประมูลอีกครั้ง

นอกจากประเด็นมีอำนาจเปลี่ยนหลักเกณฑ์หรือไม่แล้ว แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่เป็น 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบ มากสุด เนื่องจากบนคลื่นนี้มีผู้ใช้บริการอยู่เพียงประมาณกว่า 5 แสนราย แถบคลื่นเพียง 5-10 เมกะเฮิรตซ์ มากพอรองรับได้อยู่แล้ว

 

[caption id="attachment_260115" align="aligncenter" width="503"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

‘ดีแทค’ แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4/2560 ระบุ มีจำนวนลูกค้าใช้บริการทั้งสิ้น 22.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นสัมปทานของ ‘แคท’ บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. จะเอามาประมูล จำนวน 518,000 เลขหมาย แบ่งเป็นระบบเติมเงิน 221,000 เลขหมาย และรายเดือน 297,000 เลขหมาย ที่เหลืออยู่บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น ‘ดีแทค’ ไม่จำเป็นต้องทุ่มลงทุนเพื่อให้ได้แถบคลื่นความถี่มากถึง 15 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เลือก ‘ดีแทค’ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนต่อปี 4,510 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมีข้อสรุปเปลี่ยนหลักเกณฑ์เงื่อนไขประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่อีก 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องร้องขอความเป็นธรรมแน่ เพราะการประมูลรอบก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ราย คว้าสิทธิ์คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยทุ่มเสนอราคารวมเป็นเงินถึง 80,778 ล้านบาท


Ad_Online-03-503x62-1

“ทั้ง ‘เอไอเอส’ และ ‘ทรู’ มีคลื่นความถี่ทั้ง 900, 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ เชื่อว่า ผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นที่จะได้ความถี่เพิ่มเติม แถบคลื่นที่มีอยู่เพียงพอให้บริการลูกค้า และที่สำคัญ ค่าคลื่นความถี่ทั้ง 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ละรายต้องเสียค่าใบอนุญาตเป็นแสนล้านบาทไปแล้ว ถ้าประมูลคลื่นมาอีก ต้นทุนก็จะสูงขึ้น แต่ต้องเข้าประมูลเพื่อไล่ราคาให้ต้นทุนของคู่แข่งทัดเทียมกับที่ตนได้ลงไป ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์เป็นซอยคลื่นเพิ่มใบอนุญาต การสกัดคู่แข่งก็ยากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีข้อสงสัยกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ใหม่นี้ รักษาการบอร์ด กสทช. ชุดนี้ มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้องหาคนกลางมาตัดสิน ขณะที่ ‘ดีแทค’ ปัจจุบันมีคลื่นความถี่ 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2561 ที่ต้องประมูลตัดสินกันอีกครั้งแล้ว ‘ดีแทค’ มีคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. และคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของทีโอที ที่เลือก ‘ดีแทค’ เป็นพันธมิตรธุรกิจ แต่ปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการแต่อย่างใด


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18-21 ก.พ. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว