จีนกร้าวขู่ตอบโต้สหรัฐฯ ตั้งกำแพงสกัดนำเข้าถั่วเหลือง

20 ก.พ. 2561 | 11:18 น.
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงขึ้นจากสินค้าประเภทเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ และนั่นก็ทำให้รัฐบาลจีนต้องคิดหนักว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร หลายฝ่ายมองว่าท่าทีของสหรัฐฯซึ่งต้องการปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศตามนโยบาย America First จะเป็นประเด็นจุดชนวนให้ประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ หามาตรการต่างๆมาตอบโต้ กลายเป็นสงครามการค้าในที่สุด

เรื่องนี้เริ่มก่อเค้าลางแล้วเมื่อมีรายงานข่าวว่า จีนกำลังพิจารณามาตรการ “เอาคืน” ด้วยการตั้งกำแพงสกัดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และน่าจะเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 1 ของถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่าจีนเป็นผู้ซื้อถั่วเหลืองประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่สหรัฐฯส่งออก ส่วนใหญ่นำมาใช้เลี้ยงสุกรจำนวนกว่า 400 ล้านตัวภายในประเทศ ถ้าหากจีนลดการนำเข้าหรือตั้งภาษีให้กลายเป็นอุปสรรคการนำเข้า ผู้จะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในมลรัฐตอนกลางและตอนเหนือของประเทศหรือที่เรียกว่าแถบ “มิดเวสต์” ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญในทางการเมือง

[caption id="attachment_260081" align="aligncenter" width="503"] ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาผลิตเป็นอาหารสุกรจีน ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาผลิตเป็นอาหารสุกรจีน[/caption]

**แรงมาแรงไป แต่เจ็บทั้งคู่
เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังไม่ได้ออกมายืนยันว่ากำลังพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯจริงหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่า ทางกระทรวงสามารถสั่งให้มีการไต่สวนเองหรือไต่สวนตามคำร้องจากอุตสาหกรรมภายในประเทศว่า ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ถูกนำเข้ามาสู่ตลาดจีนแบบถล่มราคาหรือได้รับการอุดหนุนจนเกิดข้อได้เปรียบหรือไม่ เรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนและหากเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบไม่เพียงกับเกษตรกรสหรัฐฯ แต่ภาคการผลิตภายในประเทศของจีนเอง ก็จะได้รับแรงกระทบจากการสกัดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ จีนเป็นผู้เลี้ยงและบริโภคสุกรรายใหญ่ที่สุดในโลก ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาผลิตเป็นอาหารสุกรจีน หากมีมาตรการสกัดปริมาณการนำเข้า ราคาต้น ทุนเลี้ยงสุกรก็จะทะยานสูงขึ้น และนั่นก็อาจหมายถึงการขึ้นราคาเนื้อสุกรที่เป็นอาหารของประชากรจีน 1,300 ล้านคนในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในทางการเมือง และพรรคคอม มิวนิสต์จีนก็ไม่ต้องการที่จะให้เรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน

“การใช้ถั่วเหลืองเป็นเครื่องมือตอบโต้สหรัฐฯ น่าจะเป็นสมมติฐานขั้นเลวร้ายที่สุด” หลี่ เจียง หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท เซี่ยงไฮ้ เจซี อินเทลลิเจนซ์ฯ ที่ปรึกษาด้านการค้าพืชผลการเกษตรในเซี่ยงไฮ้กล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า เพราะเนื้อสุกรเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของชาวจีน นอกจากนี้ แม้จีนจะพยายามลดการพึ่งพาถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ โดยเพิ่มการนำเข้าจากแหล่งอื่น อาทิ บราซิล โดยปี 2560 จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเพิ่มขึ้น 33% เป็นปริมาณ 51 ล้านตัน ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯลดลง 3.8% เหลือเพียง 33 ล้านตัน แต่ก็ใช่ว่าถั่วเหลืองจากประเทศอื่นจะเข้ามาแทนที่การนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯได้ง่ายๆ เพราะฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันทำให้ถั่วเหลืองจากประเทศอื่นขาดตลาดในช่วงเวลาที่ถั่วเหลืองสหรัฐฯเข้าตลาด ผู้ผลิตอาหารสุกรรายใหญ่ของจีนเปิดเผยว่า ถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดจีนในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผลผลิตจากบราซิลและประเทศอื่นๆในอเมริกาใต้ ยังอยู่ในระหว่างการเพาะปลูก

[caption id="attachment_260083" align="aligncenter" width="503"] หากมีมาตรการสกัดการนำเข้า ราคาต้นทุนเลี้ยงสุกรก็จะทะยานสูงขึ้น หากมีมาตรการสกัดการนำเข้า ราคาต้นทุนเลี้ยงสุกรก็จะทะยานสูงขึ้น[/caption]

**สงครามการค้าคุกรุ่น
“ไม่มีอะไรมาแทนที่ถั่วเหลืองจากสหรัฐฯได้ เราจำเป็นต้องพึ่งพากัน” ซุน จ่าว ประธานบริษัท เทียนจิน เทียนจ่าว กรุ๊ปฯ ผู้ผลิตอาหารสุกร ป้อนให้กับลูกค้าเกษตรกรราว 150 รายที่เลี้ยงสุกรกว่า 30,000 ตัวกล่าว

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลจีนเริ่มการไต่สวนกรณีถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เพื่อหามาตรการตอบโต้ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า กระทรวงพาณิชย์จีนได้เรียกประชุมบริษัทเอกชนจีนที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้บทสรุป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สหรัฐฯเองก็รับรู้สัญญาณเตือนว่าจีนกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้ นายซอนนี่ เพอร์ดิว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า มีความวิตกกังวลมากจากข่าวที่ว่า สินค้าส่งออกหลายรายการของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงถั่วเหลือง อาจถูกตั้งกำแพงการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เพราะเกษตรกรอเมริกันมีเรื่องท้าทายทางเศรษฐกิจรุมเร้ารอบด้านอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีการตั้งกำแพงการค้าที่หวังผลทางการเมืองเช่นนี้ เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง (รัฐบาล)สหรัฐฯกำลังพิจารณาใช้ทุกกลไกหรือทุกเครื่องมือที่มีอยู่ ช่วยเหลือเกษตรกรและทุกภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ

AW_Online-03 **เตือนราคาซื้อขายแกว่งแรง
ปัจจุบัน สหรัฐฯขาดดุลการค้าจีน (การค้าสินค้าไม่รวมภาคบริการ) ที่ระดับ 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สถิติปี 2560) หรือเพิ่มขึ้น 8.1% เป็นปัญหาที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ นับตั้งแต่ที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง นอกจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ก่อนหน้านี้ในปี 2560 สหรัฐฯได้เริ่มกระบวนการไต่สวนกรณีการทุ่มตลาดอะลูมิเนียมและเหล็กกล้าจากจีน รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯด้วย ซึ่งจีนก็ได้โต้ตอบด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาไต่สวนกรณีการทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ อาทิ ข้าวฟ่าง ซึ่งนำมาใช้ในการอุตสาหกรรมแปรรูปแทนข้าวโพด อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรสหรัฐฯ อาจยังไม่มากเท่ากรณีหากจีนตั้งมาตรการจำกัดการนำเข้าถั่วเหลือง “เรื่องนี้จะส่งแรงกด ดันต่อราคา ตอนนี้เราอยู่ในสถานะ ผลิตสินค้าล้นตลาดอยู่แล้ว มีผลผลิตส่วนเกินจำนวนมาก หากเราสูญเสียตลาดจีนไปอีก ทุกอย่างก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น” เดฟ แซลมอนเซ่น ผู้อำนวยการสมาพันธ์เกษตรกรอเมริกัน ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรของเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ให้ความเห็น

เรื่องนี้ยังไม่มีบทสรุปเพราะจีนยังไม่ได้ออกมาระบุชัดเจนว่าจะใช้ถั่วเหลืองเป็นอาวุธทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯจริงหรือไม่ แต่หากเกิดขึ้นจริง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกโดยเฉพาะในด้านราคาถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับถั่วเหลืองในตลาดโลกที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะแกว่งตัวแรงอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว