ผ่าแผนยกระดับขีดแข่งขัน ดันงานวิจัยขึ้นห้าง-ผลิตคน4.0

21 ก.พ. 2561 | 05:52 น.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่การกำหนดทิศทางกำกับ เร่งรัด ติดตามให้มีการปรับปรุงโครงสร้างภารกิจอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ของประเทศ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการกำหนดมาตรการด้านต่างๆ เพื่อปฏิรูปและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยดังกล่าว ต่อเรื่องนี้นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสวทน.ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภารกิจที่ขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต ภาคบริการ

++ยกระดับขีดความสามารถ
เลขาธิการสวทน. กล่าวถึงภารกิจปี 2561 ว่า สวทน.มีงานอีกหลายด้านที่ต้องขับเคลื่อนโดยเฉพาะเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชนในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเรื่องการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สวทน.ทำขึ้นมาโดยการคัดเลือกโปรแกรมหัวหอกหรือ Spearhead Program ไปสู่เป้าหมายในเบื้องต้น โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณที่จะให้สถาบันวิจัยไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมราว 3,000 ล้านบาท งบนี้จะออกมาประมาณเดือนตุลาคม 2561 แต่เป็นงบที่มาจากปีงบประมาณ 2562

งบประมาณดังกล่าวจะไปสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่เกิดเป็นโปรดักต์ขึ้นจริง ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดออกมาแล้วเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งหมด 6 กลุ่ม เช่น กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ กลุ่มนี้ก็จะได้ยาชีววัตถุ หรือเครื่องมือแพทย์, กลุ่มเกษตรสมัยใหม่จะเป็นเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ใหม่, กลุ่มอาหารที่สวทน.จัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาตั้งศูนย์วิจัย หรือแล็บวิจัยด้านอาหารจำนวน 36 บริษัท ที่สวทน.จะสนับสนุนในเรื่องของกำลังคน ในเรื่องการนำเอสเอ็มอีครั้งละ 100 คนเข้ามา นอกจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มดิจิตอล หุ่นยนต์ เป็นต้น

[caption id="attachment_260064" align="aligncenter" width="422"] กิติพงค์ พร้อมวงค์ กิติพงค์ พร้อมวงค์[/caption]

“สวทน.จะช่วยจัดสรรงบประมาณลงไปในกลุ่มเหล่านี้ และมีหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรเข้ามารับไปบริหารจัดการเพื่อให้บริษัทเอกชนทำงานร่วมกันกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย แต่เน้นว่าจะต้องทำให้เกิดโปรดักต์ให้ได้ โดยที่วิจัยออกมาแล้วไม่ไปไว้บนหิ้งแต่เราจะนำขึ้นห้างได้เลย เหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้วและในเดือนตุลาคมนี้จะเริ่มจ่ายงบประมาณ”

สำหรับพันธมิตรที่เข้ามา จะเป็นบริษัทเอกชน 83 บริษัทเข้ามาร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 20-30 แห่งก็จะมาทำงานร่วมกันพัฒนาด้วยงบ 3,000 ล้านบาท โดยมีโปรแกรมย่อยทั้งหมด 42 โปรแกรมที่จัดออกมาเป็น 6 กลุ่มอุตสาหกรรม

TP08-3341-1 ++เตรียมพร้อมด้านคน
เรื่องถัดมาสวทน.มองว่าเมื่อบริษัทเอกชนมีการทำวิจัยมากๆ ก็จะมีความต้องการเรื่องคน ซึ่งตอนนี้สวทน.ได้เตรียมมาตรการเรื่องคนไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนว่า ถ้าเป็นบุคลากรทาง ด้านท็อปเทน เช่น นักวิจัยและวิศวกร เฉพาะกลุ่มที่เป็นบุคลากรวิจัยปัจจุบันมีเกินเป้า จากที่ตั้งเป้าว่ารอบการสำรวจปี 2560 จะมี 15 คนต่อประชากร 10,000 คน แต่ตอนนี้สามารถพัฒนานักวิจัยขึ้นมาได้ 17 คนต่อประชากร 10,000 คน เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามีจำนวนของบุคลากรวิจัยประมาณ 112,400 คน และปี 2564 ตั้งเป้าที่ 25 คนต่อประชากร 10,000 คน

ส่วนกลุ่มบุคลากรช่าง ก็เตรียมไว้ค่อนข้างมากที่จะต้องเพิ่ม เพราะจะเป็นความต้องการที่เยอะขึ้น เนื่องจากคนที่ไปลงทุนในอีอีซียังมีด้านการผลิตด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

“ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาเข้ามารองรับการเติบโตของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยสวทน.จะทำงานร่วมกับภาคการผลิตและบริการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่มีการส่งเสริมทางด้านนี้ เช่น บีโอไอ ที่จะผลักดันให้บริษัทเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยในประเทศไทยด้วยเป็นต้น รวมถึงสถาบันวิจัยในกระทรวงวิทย์ และนอกกระทรวงวิทย์ และกลุ่มที่ให้บริการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น ทำการทดสอบด้านมาตรฐาน”

สุดท้ายเลขาธิการสวทน.มองว่าการลงทุนในอีอีซีจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนด้านR&D มากขึ้น และจะเป็นตัวเร่งหลายด้านไม่ใช่เฉพาะแค่ทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน แต่มองระยะยาวเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเกิดขึ้น และอีอีซีเราคาดหวังเม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อเอาเรื่องการวิจัยและพัฒนาเข้าไปด้วยก็จะช่วยขยับให้เกิดการลงทุนสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญในแง่เม็ดเงินลงทุน และการเกิดคุณค่าของอุตสาหกรรมนั้นๆด้วย เพราะเมื่อลงทุน R&D ก็จะผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพราะใช้องค์ความรู้มากขึ้น

สัมภาษณ์ : งามตา สืบเชื้อวงค์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว