เจาะลึกอุตสาหกรรมเด่นขานรับโครงการ EEC

15 ก.พ. 2561 | 11:43 น.
อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อใช้ขับเคลื่อนประเทศ นโยบายดังกล่าวเป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐและกรอบในการพัฒนาพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน เพื่อสร้างแรงดึงดูดระลอกใหม่ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและมีการดำเนินการแล้วในปัจจุบันหรือกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งจะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต

นอกจาก พ.ร.บ. EEC ซึ่งเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาแล้ว ภาครัฐยังมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพ (hard infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับดูแล (soft infrastructure) โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านคมนาคม ซึ่งครอบคลุมทุกรูปแบบในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ได้แก่ ทางราง ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ การพัฒนาระบบส่งและกระจายไฟฟ้า การพัฒนาระบบกักเก็บและส่งน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค การพัฒนาสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยว และสาธารณสุข ส่วนในด้านการกำกับดูแล ภาครัฐยังมีการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ส่วนบุคคล การยกเลิกอากรเครื่องจักรนำเข้าและวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก เงินทุนสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในบริเวณ EEC อีกด้วย

อีไอซีประเมินว่า ในระยะเริ่มต้น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 3 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในบริเวณ EEC เมื่อพิจารณาจากความสามารถและทักษะแรงงาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และประเภทของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

ธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เน้นรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ (narrow body) จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนต่ำเลือกใช้มีสัดส่วนกว่า 70% ของเครื่องบินที่ผ่านสนามบินเข้าออกของไทยทั้งหมดและมีปริมาณจะเติบโตอีกกว่า 1.5 เท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในประเภทชิ้นส่วนหลัก (กลุ่ม tier 2) และชิ้นส่วนรอง (กลุ่ม tier 3) ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานราว 60% ชุดระบบสายไฟราว 30% และที่เหลือเป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์และยางล้อเครื่องบิน

Ad_Online-03 โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจะสร้างแรงดึงดูดการลงทุนด้าน Internet of Things (IoT) ซึ่งจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการในการพัฒนา IoT solution ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันการใช้จ่ายด้าน IoT ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคการเกษตรยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากนัก สะท้อนจากสัดกส่วนการใช้ embedded software ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความสามารถในการสื่อสารในภาคเกษตรที่มีการใช้เพียง 0.1% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการใช้ถึง 76% ของอุปกรณ์ทั้งหมด อีไอซี ประเมินว่า หากมีการใช้ IoT ในการเกษตรเพื่อควบคุมการให้น้ำ การควบคุมโรคและศัตรูพืช และการติดตามสภาพดิน จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 30-50% และหากนำไปใช้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มผลผลิตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกผลผลิตต่อไร่ของข้าวอยู่ที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่

ความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปัจจุบันและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) โดยเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทดแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุน อีไอซี พบว่าการใช้ระบบระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี ขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสูงสุดราว 12 ปี จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ออกแบบ และจัดหาระบบอัตโนมัติจากผู้ผลิตหุ่นยนต์และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ มาติดตั้งตามความต้องการของ end users ซึ่งในอนาคตแรงงานกว่า 6.5 แสนคนมีโอกาสที่จะถูกทดแทนหากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็จะมีการสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นกัน

e-book นอกจากนโยบายและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ แล้ว ภาครัฐควรมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน การสร้างแรงงานที่มีทักษะเหมาะสม และการเตรียมพร้อมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์ต่อนักลงทุนตั้งแต่กระบวนการขออนุญาต จนถึงการอนุมัติการลงทุนและการดำเนินกิจการ รวมถึงการให้ข้อมูลทางด้านสภาพเศรษฐกิจ กายภาพและสังคม เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานทั้งในด้านเทคนิคและการสื่อสารให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งควรมีมาตรการป้องกันและเยียวยา ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสวัสดิภาพของประชาชนที่อยู่ในบริเวณ EEC เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างยั่งยืนส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชนควรมีการเตรียมพร้อม โดยการศึกษากฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการลงทุน ข้อกำหนดต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC รวมถึงการศึกษาและวางแผนการใช้โครงสร้างพื้นฐานในด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ในการประกอบกิจการต่อไป

 

EIC_Insight_EEC_20180215_50

ที่มา :  Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์