ที่นี่...ไม่มีความลับ | 'กฎหมาย ส.ว.' ตัวแปรเลื่อนเลือกตั้งอีก

07 ก.พ. 2561 | 04:46 น.
1115

... นอกจากเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน จะเป็นประเด็นให้ 2 พรรคใหญ่ (เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์) และแนวร่วมมุมกลับออกมาต่อต้าน คสช.-รัฐบาล และ สนช. ในกระบวนท่าการยื้ออำนาจโดยการเลื่อนโรดแมปออกไป ยังมีประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งอาจถูกยืดออกไปได้เพิ่มเติม

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 แต่มีปมประเด็นที่แก้จากการยกร่างของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้ออึงว่า อาจจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้รอการพิจารณาของ กรธ. และความเห็นของ กกต. ก่อนส่งคืนให้ สนช. และอาจจะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากกระบวนการแก้ไข 3 ฝ่าย (สนช.-กรธ.-กกต.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่มีประเด็นการยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก แต่หากไม่เรียบร้อยและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญ กรอบเวลาการเลือกตั้งต้องยืดออกไป เพราะจะต้องยกร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่

 

[caption id="attachment_256908" align="aligncenter" width="431"] มีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)[/caption]

ประเด็นที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มาของ ส.ว. จากที่ กรธ. กำหนดให้มาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อความหลากหลาย แต่ สนช. ตัดเหลือเพียง 10 กลุ่ม ยังมีประเด็นวิธีการเลือก ที่ร่างกฎหมายเดิมกำหนดให้มีการเลือกไขว้กลุ่มและห้ามผู้สมัครเลือกตัวเอง แต่ สนช. แก้ไขเป็นให้เลือกกันภายในกลุ่มและสามารถเลือกตนเองได้ และเปลี่ยนช่องทางการสมัครจากที่ กรธ. กำหนดให้สมัครตามกลุ่มสาขาอาชีพและความเชี่ยวชาญ ถูก สนช. แก้เป็นสามารถสมัครอิสระหรือผ่านตัวแทนองค์กรวิชาชีพได้

 

[caption id="attachment_256903" align="aligncenter" width="407"] พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)[/caption]

การแก้ไม่ใช่สาระ แต่สาระอยู่ตรงที่นี่ คือ เจตนาของ สนช. หนึ่งในกลไกทางการเมืองของ คสช. ในการวางแผนให้การเลือกตั้งถูกยืดออกไป โดยผ่านกระบวนการอุบัติเหตุทางกฎหมายเหมือนเมื่อครั้งใช้ให้ สปช. หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยกร่างขึ้นมาหรือไม่ สนช. ภายใต้การนำของ พรเพชร วิชิตชลชัย ต้องตอบคำถามนี้ต่อประชาชน

แน่นอนการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป คสช.-รัฐบาล ได้ประโยชน์ในการอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ สนช. ก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน คือ ยังทำหน้าที่ สนช. จนกว่าจะมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิประโยชน์เงินเดือนคนละกว่าแสนบาท บวกเบี้ยประชุมยังคงอยู่ บารมี การอาศัยหน้าที่ตำแหน่งในการสร้างประโยชน์ตนยังคงอยู่ ดังนั้น การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จึง win-win ทั้ง คสช.-รัฐบาล และ สนช. แต่ผลเสียหายกลับตกอยู่กับประเทศ ที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นนานัปการ

…………………
คอลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,338 ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2561 หน้า 16

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว