มุมมองนอกหน้าต่าง ... ผ่านเลนส์ไวด์ที่ 'ฮ่องกง'

25 ก.พ. 2561 | 10:10 น.
1659

… การเดินทางจากประเทศไทยอย่างสะดวกสบายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง กับความอัจฉริยะในทุกมิติที่พร้อมโอบรับเราอย่างอบอุ่น จึงไม่แปลกใจเลยว่า สำหรับผู้ชื่นชอบการปลีกเวลาพักผ่อนสมองระยะสั้น ๆ มักจะเลือก ‘ฮ่องกง’ เป็นเป้าหมายแรก เป็นเหตุให้การเดินทางเยือนเกาะเล็ก ๆ ในทะเลจีนใต้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนการได้ทานของโปรดที่ยิ่งทานยิ่งอร่อย ซื้อซ้ำอีกกี่ทีก็ไม่มีเบื่อ สะท้อนลักษณะที่เรียกว่า Repeat Order ที่ตอกย้ำความประทับใจในเรื่องราวต่าง ๆ ที่หลอมรวมเป็นแบรนด์อันแข็งแกร่งภายใต้ชื่อ ‘ฮ่องกง’


28-3337

คนเรามักจะพูดถึงเรื่องที่ประทับใจได้บ่อย ๆ หลังจากสัปดาห์ก่อน ‘สุขสัปดาห์’ ได้เปิดเรื่องราวของเมืองอันเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ทุกวินาทีไปแล้ว เรากลับมาคิดว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากเล่าให้ผู้อ่านฟัง โดยย้อนกลับมาที่ความประทับใจแรก เมื่อล้อคู่ใหญ่ของเรือบินขนาดมหึมาแล่นผ่านท้องทะเลอันกว้างใหญ่ และบนขอบสนามบินเช็กแล็ปก๊อก หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง แผ่นดินขนาดใหญ่ที่วางตัวอย่างสวยงาม ดูคล้ายเกาะที่ได้รับการรังสรรค์อย่างวิจิตร แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะสนามบินแห่งนี้ถือเป็นโครงการก่อสร้างที่ท้าทายธรรมชาติและใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 กับการระเบิดเกาะเล็ก ๆ กลางทะเล 2 เกาะนอกชายฝั่งฮ่องกง แล้วดูดดินโคลนที่อ่อนนุ่มด้านล่างออก ใช้หินและทรายจากการระเบิดถมและบดจนเรียบเสมอกัน เพื่อสร้างท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก การใช้ความรู้เชิงปฏิบัติการทางวิศวกรรมที่ชาญฉลาด ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงไม่เพียงโปร่งใส โล่ง สว่าง ยังสะดวกต่อการเข้าถึงและการใช้งานในทุกมิติ นับเป็นความประทับใจแรกที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้จริง ๆ


28-3337-03

เรื่องต่อมา คือ การสร้างและรักษา Green Space เพื่อเป็นปอดของเมืองและเป็นจุดผ่อนคลายอิริยาบถอันเร่งรีบของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง หากสังเกตดี ๆ จะพบว่า ในย่านใหญ่ ๆ ทุก ๆ ที่ของฮ่องกง จะมีการสร้างสวนสาธารณะที่ไม่ได้มี เพราะต้องมีตามกฎหมาย แต่คือ สวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ การปล่อยให้พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ได้เจริญเติบโตอย่างพอดีตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องตัดแต่งทรงให้เรียบเป็นแท่งสี่เหลี่ยมหรือวงกลม การสร้างถนนทั้งในทางราบและทางภูเขามีการรักษาไม้ยืนต้นดั้งเดิมไว้อย่างเต็มความสามารถ ถ้ามองโดยละเอียดก็จะเห็นว่า ถนนในเมืองของฮ่องกงมีขนาดไม่กว้างมากนัก และตลอดแนวฟุตบาทก็ยังคงมีร่มไม้ใหญ่ให้เดินลอดหลบแนวแดดเสมอ นั่นเป็นผลมาจากรัฐบาลของฮ่องกงวางกรอบการพัฒนาประเทศให้เขตบริหารพิเศษแห่งนี้ใช้แผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Greening Master Plan) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ออกแบบสิ่งแวดล้อม และการใช้งานสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปรับแต่งทางเดินเท้า ระบบการระบายความร้อน การเสริมความงามและฟื้นฟูแหล่งทางระบายน้ำ การแยกขยะของเสียและสร้างอาคารที่เป็นมิตร เพื่อมุ่งเน้นและมุ่งมั่นให้ฮ่องกงกลายเป็น Smart Environment โดยสมบูรณ์


28-3337-01

นอกจากการวางโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลชุมชนเมืองให้น่าอยู่อาศัยด้วยการเริ่มจัดการตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของฮ่องกงก็นำเอาแผนแม่บทดังกล่าวไปปรับใช้อย่างสมดุล ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางการเดินทางบนกระเช้าแบบ 360 องศาของนองปิง พื้นที่ส่วนล่างบนพื้นดินที่เป็นเส้นทางการเดินส่วนใหญ่รายล้อมไปด้วยไม้พุ่มและไม้ยืนต้นตลอดแนว ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อลอยขึ้นสูงไปในระดับที่กว้างจะทำให้เราเห็นภาพของภูเขาที่อิ่มเอมไปด้วยทุ่งหญ้า ถือว่าการจัดการเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ๆ แต่นี่ฉายภาพให้เราเห็นว่า ฮ่องกงได้เริ่มดำเนินการดูแลและปลูกต้นไม้มาเป็นระยะเวลานาน ควบคู่กับการป้องกัน เฝ้าระวัง และปลูกฝังวัฒนธรรมในการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ แม้บริบทโดยรอบจะเปลี่ยนไป


28-3337-02

ฉะนั้นแม้ว่า การพัฒนาจะก่อให้เกิดโครงสร้างใหม่ ๆ มีเสาเหล็ก อาคารคอนกรีต เติบโตตามช่องว่างต่าง ๆ ของเมืองมากเพียงใด แต่การมีแผนแม่บทที่ชัดเจน การปลูกฝั่งวัฒนธรรมการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ลงลึกไปในใจ ตลอดจนมุ่งสร้างพื้นที่สีเขียวและดูแลพื้นที่เดิม ๆ ให้คงอยู่และงอกงาม เพียงเท่านี้ชุมชนเมืองที่ดูเหมือนจะแข็งกระด้าง ก็กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ต่อการเรียนรู้ในทุกมุมมองจริง ๆ


28-3337-04

ในประเทศที่ ‘พื้นที่’ คือ สิ่งมีค่าสูงสุด สิ่งที่ได้รับการรังสรรค์บนผืนแผ่นดินแห่งนี้จึงต้องคุ้มค่าและทรงคุณค่าสูงสุดไปพร้อม ๆ กัน ภายใต้หลังคารูปทรงเกลียวคลื่นของสนามบินนานาชาติฮ่องกง และการใช้ระบบ RFID เพื่อส่งต่อสัมภาระจนถึงปลายทาง การันตีความแม่นยำมากถึง 97% เหนือมาตรฐานของสนามบินอื่น ๆ ที่อาจการันตีได้เพียง 85% คือ ความอุ่นใจสูงสุดว่า เป็ดย่างและหมูกรอบที่บรรจงแพ็กมาอย่างดีจะถึงมือผู้รับและทันอาหารมื้อเย็นในวันนี้อย่างแน่นอน


เรื่อง : กองบรรณาธิการสุขสัปดาห์
ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติม : คุณธีรภัทร์ ทองพิทักษ์สกุล



……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,337 วันที่ 4-7 ก.พ. 2561 หน้า 28

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว