‘สมคิด’ รับปากดูแลราคาสินค้าเกษตร ติดทุกเครื่องยนต์ศก.หยุดการทรุดตัวปี59

12 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
ขุนคลัง"สมคิด"ย้ำชัดปี59 เศรษฐกิจโลกน่าผิดหวัง หลังดัชนีเชื่อมั่น "จีน"เสี่ยงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ยอมรับไม่มั่นใจ สหรัฐฯฟื้นตัวแค่ไหน หลังเฟดเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยหวั่นเงินไหลออกไทยโดนหางเลข สั่งเดินหน้าเครื่องจักรทุกตัว รักษาโมเมนตัมหยุดยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจไทยปีลิง พร้อมกำชับ "ธ.ก.ส.-ออมสิน" ดูแลเกษตรกร ยืนยันจะดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่อเนื่อง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทยปี 2559 มองไปข้างหน้า โอกาสและความท้าทาย" โดยยังมองเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างน่าผิดหวังเป็นความเสี่ยง รวมถึงปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำที่จะกระทบต่อเนื่องทำให้ความต้องการและอำนาจซื้อสินค้าจากภาคการเกษตรลดลงไปด้วย ทั้งนี้แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.6% โดยส่วนตัวถือว่าอัตราดังกล่าวเหมาะสมและไม่ถือว่าน่ากังวล

ส่วนผลกระทบที่ส่งผลต่อประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าการที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดี โดยเฉพาะจีนที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะมาตรการที่ห้ามนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นในตลาด เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยหวังว่าจะช่วยพยุงตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ให้ผันผวนนั้น หากสถานการณ์รุนแรงเชื่อว่าทางการจีนน่าจะออกมาตรการที่เข้มข้น สะท้อนว่าจีนกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก ส่งผลต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของประเทศจีน ถดถอยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งต้องระวังว่าหากถดถอยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 คงต้องประเมินอีกครั้งว่าจะกระทบต่อไทยเท่าไร ส่วนประเทศเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ยังมองว่ามีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอต่อเนื่อง ดังนั้นขณะนี้มีเพียงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ยังพอแข็งแรงขึ้นสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจประเทศหลัก

"เศรษฐกิจโลกปีนี้จะฟื้นตัวเป็นบางพื้นที่ โดยภาพรวมเติบโต 3.6% หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เตรียมประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แน่นอนว่าจะกระทบประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมามีการอัดฉีดเงินไปหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จึงไม่อาจมั่นใจว่าถึงตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งพอที่จะรับมือการไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้หรือไม่สำหรับปีที่ผ่านมา ปัจจัยจากต่างประเทศทำให้จีดีพีของไทย จะขยายตัว 2.8 -3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า หรือปี 2558 ที่ขยายตัว 2.7%"

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศมีมากกว่า 30 ล้านคน คิดสัดส่วนเป็น 10% ของจีดีพี ส่งผลอย่างมากซึ่งจะต้องทำให้ภาคการเกษตรกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รัฐบาลเน้นกระตุ้นผ่านการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ผ่านสถาบันการเงินในกำกับของรัฐ (SFIs) คือ ธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึง บมจ.ธนาคารกรุงไทย ออกมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตหรือเพาะปลูก

นอกจากนี้จะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) กำหนดแผนการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพร่วมกันให้มากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับธนาคาร ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อปรับแนวทางการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งภาคการเกษตรถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก (แนวนอน) ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดเล็กผ่านทางชุมชน เช่น การเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โรงงานแปรรูปผัก-ผลไม้ เป็นการลงทุนกันเองในท้องถิ่น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น ระบบแหล่งน้ำ ฝาย ธุรกิจเกษตร เช่น ยุ้งฉาง ลานตาก โรงอบ ซึ่งระยะต่อไปจะเป็นการผลักดันระบบอินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ครอบคลุม 1 หมื่นจุดรองรับ Digital Economy ที่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1ปีครึ่งของรัฐบาลชุดนี้

"รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับโมเมนตัมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกด้านและดูการเคลื่อนไหวรายไตรมาส ตั้งแต่การส่งออก การลงทุนภาครัฐ-เอกชน การท่องเที่ยวที่จะเป็นพระเอกปี 2559 ดังนั้นเครื่องจักรทุกตัวที่มีจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน จะไม่มีตัวไหนถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง และยืนยันจะดูแลเต็มที่ไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง"

อนึ่งสำนักงบประมาณเตรียมจัดงบประมาณเพิ่มเติมหรืองบประมาณกลางปีในวงเงิน 7 หมื่น- 1แสนล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งขั้นตอนยกร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอนุมัติและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่เกิน 3 เดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559