ศรีไทยเล็งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ควัก500ล้านผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกป้อนอุตฯอาหาร-เกษตร

01 ก.พ. 2561 | 06:27 น.
“ศรีไทย” เล็งสร้างโอกาสใหม่แตกไลน์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ คาดระยะแรกลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท ปักฐานพื้นที่ภาคตะวันออก ป้อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร พร้อมปรับโมเดลประกันความเสี่ยงขายเมลามีน แยกย่อยเครื่องจักร ไม่รวมอยู่ที่เดียว ช่วยบริษัทคล่องตัวรับลูกค้าได้หลากหลาย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2561 จะไม่ลงทุนอะไรมาก แต่จะเป็นช่วงที่ใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ในการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ที่ขณะนี้สนใจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบของถาด กล่อง เช่น กล่องบรรจุสลัด หรืออาหารบรรจุใส่กล่องพร้อมรับประทาน โดยส่วนใหญ่จะเน้นกล่องสำหรับอาหารและสินค้าเกษตรที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ให้ฝ่ายวางกลยุทธ์ธุรกิจใหม่กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่

สำหรับความเป็นไปได้ของการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกนี้คาดว่าในเบื้องต้นจะลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท ขึ้นอยู่ที่ขนาดกำลังผลิตที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความต้องการของตลาดบรรจุภัณฑ์อยู่ว่าขยายตัวอยู่ในบรรจุภัณฑ์ประเภทไหน และตลาดรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นอย่างไร เมื่อการลงทุนมีความชัดเจนก็น่าจะใช้พื้นที่ในภาคตะวันออกเป็นฐานการผลิต ซึ่งปัจจุบันก็มีโรงงานอยู่ในโซนนี้อยู่แล้วน่าจะสะดวกต่อการบริหารจัดการ

[caption id="attachment_253807" align="aligncenter" width="355"] สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นอกจากนี้ในปี 2561 ยังเป็นปีที่ต้องบริหารต้นทุน โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ให้ทันต่อการแข่งขันสมัยใหม่ แรงงานที่ไม่จำเป็นก็ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนไหนที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ก็นำมาทดแทน เช่น ระบบเอกสารก็เปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอลหรือไอทีเพื่อทำให้งานด้านเอกสารรวดเร็วขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่นำเครื่องจักร หุ่นยนต์มาแทนแรงงานมากขึ้น

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ปีนี้จะมีการทยอยปรับบิสิเนสโมเดลของกลุ่มเมลามีนใหม่ จากปัจจุบันมีการผลิตเป็นโปรดักชันใหญ่มีเครื่องจักร 500 เครื่องอยู่ในที่เดียวกัน ก็ปรับแยก หรือซอยเครื่องจักรออกมาเป็นขนาดย่อยๆ เช่น แยก 1 โรงงานมีเครื่องจักร 60 เครื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมโดยแต่ละบริษัทย่อยที่ซอยออกมาจะมีศรีไทยถือหุ้น 100% ซึ่งธุรกิจที่ออกไปในต่างประเทศก็จะทำในรูปบิสิเนสโมเดลแบบนี้

728x90-03-3-503x62-3-503x62 เนื่องจากที่ผ่านมาคู่ค้ารายใหญ่จะผูกมัดสัญญาให้ศรีไทยผลิตป้อนรายเดียวทำให้ต้องเสียโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา และมีความเสี่ยงสูงกรณีคู่ค้ารายนั้นมีปัญหา ก็จะทำให้ศรีไทยมีปัญหาไปด้วยเพราะไปผูกขาดคู่ค้ารายเดียว เมื่อเปลี่ยนบิสิเนส โมเดล เมลามีนใหม่ ก็ทำให้สามารถรับลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น เป็นการเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามา และมีการบริหารจัดการที่คล่องตัวมากขึ้น บริหารต้นทุนได้ตํ่าลงและใช้คนน้อย

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า สัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ จะมาจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ 35% เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก สำหรับหีบห่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้ บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก สัดส่วน 40% สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ประเภทโลหะ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม สำหรับผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มประเภทเบียร์ นํ้าอัดลม บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว สัดส่วน 10% สำหรับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น นํ้าอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว