เปิดทางต่างชาติถือหุ้นใหญ่ ลงทุนอุตสาหกรรมการบิน-13นิคมฯเตรียมพื้นที่รองรับ

26 ม.ค. 2561 | 04:07 น.
กรศ.คลอดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตในอุตฯอากาศยานปลดล็อกให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเกินกว่า49%ได้แต่ต้องให้สกรศ.ไฟเขียวระดับเทคโนโลยีว่าไทยต้องการหรือไม่รวมถึงต้องมีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเอกชนจ่อลงทุน3รายเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในการประชุมกรศ. ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อวันที่ 17มกราคม ที่ผ่านมาได้เห็นชอบในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตในอุตสาหกรรมอากาศยาน เพื่อแก้ไขข้ออุปสรรคด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน เนื่องจากพ.ร.บ.การเดินอากาศพ.ศ.2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 11พ.ศ. 2551มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานและผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมที่กำหนดให้ทุนของผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า51%ของทุนทั้งหมด รวมทั้งอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานและต้องการถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่า 49% สามารถดำเนินการได้ จึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานหรือผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมซึ่งประกอบกิจการในเขตส่งเสริมของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) จะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทยมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือหน่วยซ่อมอากาศยาน

tp11-3333-a นอกจากนี้ จะต้องได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต) มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามใบรับรองแบบหรือมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน และมีการควบคุมคุณภาพการผลิต หรือการซ่อม

โดยมีเงื่อนไขว่า กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือใบรับรองหน่วยซ่อม มีทุนของผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่า 51% หรืออำนาจการบริหารกิจการอยู่ ภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย จำเป็นต้องเสนอข้อมูลที่ชัดเจนต่อสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เพื่อพิจารณาระดับเทคโนโลยีสำคัญว่าเป็นที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทยรวมถึงแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากการปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ได้นั้น จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นมีต่างชาติ 3 ราย ที่ลงทุนในประเทศอยู่แล้ว สนใจที่จะลงทุนเพิ่ม เช่น บริษัท SeniorAerospaceตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1 จะลงทุนผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานเงินลงทุน 600 ล้านบาท  บริษัท PACMET ตั้งอยู่ในนิคมฯปิ่นทอง1ลงทุนผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน เงินลงทุน80ล้านบาท และบริษัท BOSA-Thayaanตั้งอยู่ในนิคมฯ เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จะลงทุนหน่วยซ่อมบำรุงอากาศยาน (line maintenance) เฟสแรก 20 ล้านบาท และเฟสที่ 2 ไม่ตํ่ากว่า 350 ล้านบาท

“อุตสาหกรรมอากาศยาน ถือว่าต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ของตัวเอง การที่ต่างชาติจะมาร่วมลงทุนโดยถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนไทย และไม่มีอำนาจการบริหาร ก็ไม่อยากจะลงทุนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยี”

728x90-03-3-503x62 ทั้งนี้ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตในอุตสาหกรรมอากาศยานหลังผ่านการเห็นชอบจาก กรศ.จะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.)มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ต่อไป

ส่วนการเตรียมพื้นที่รองรับในการลงทุนอุตสาหกรรมอากาศยานนั้น กรศ. ได้มีการอนุมัตินิคมอุตสาหกรรม 13แห่งเป็นเขตส่งเสริมรองรับการลงทุนแล้วประกอบด้วยนิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด4 พื้นที่ 295 ไร่ นิคมฯสมาร์ท ปาร์ค พื้นที่ 396 ไร่นิคมฯที เอฟ ดี 2 พื้นที่ 189 ไร่ นิคมฯเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด 3 พื้นที่ 424 ไร่ นิคมฯเหมราชชลบุรี พื้นที่ 6 ไร่ นิคมฯเหมราช ชลบุรี แห่งที่ 2 พื้นที่ 43 ไร่ นิคมฯอมตะนคร 1 พื้นที่ 90 ไร่ นิคมฯอมตะนคร 2 พื้นที่ 277 ไร่ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9