เคาะส.ว.เหลือ15กลุ่มอาชีพ

21 ม.ค. 2561 | 09:52 น.
กรรมาธิการเคาะยุบ รวมส.ว.เหลือ 15 กลุ่มอาชีพ จากเดิม 20 กลุ่ม เปิดช่องเลือกกันเองแทนเลือกไขว้ ตั้งเกณฑ์ไร้คะแนนเกิน 3 คนเลือกใหม่ หวังสกัดฮั้ว

พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯ ได้แบ่งกลุ่มและกระบวนการเลือกส.ว.โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้การแบ่งกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือ 15 กลุ่ม

“ยืนยันว่า เป็นการควบรวมกลุ่มไม่ได้ตัดกลุ่มใดออก และได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกในมาตรา 40-42 โดยยกเลิกระบบการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มให้เป็นการเลือกกันเองโดยตรง แต่ยังคงวิธีการเดิม คือ ระดับ อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศเอาไว้”

[caption id="attachment_252065" align="aligncenter" width="503"] พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)[/caption]

พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า มีกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสนอวิธีการป้องกันการฮั้ว โดยกำหนดให้กลุ่มอาชีพใดที่มีผู้สมัครไม่ได้รับคะแนนเสียงเกิน 10% เช่น ในกลุ่ม ก.มีผู้สมัคร 30 คน แต่มี 3 คนไม่ได้คะแนนเลยให้สันนิษฐานว่า มีการสมยอมกันในการเลือกครั้งนี้ และให้ถือว่าไม่สุจริตและเป็นธรรม ให้ผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้งจัดให้ผู้สมัครที่เหลือในกลุ่มนั้นเลือกกันเองใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิ์ที่จะเลือกและได้รับเลือก

ส่วนการปรับลดเหลือเพียง 15 กลุ่มจะทำให้ได้ส.ว.ครบ 200 คนได้อย่างไรนั้น พล.ร.อ. ธราธร ชี้แจงว่า ทั้ง 15 กลุ่มเมื่อเลือกแล้วจะได้ส.ว.กลุ่มละ 13 คน รวมแล้ว 15 กลุ่มจะได้ 195 คน หลังจากนั้นที่ประชุมให้พิจารณากลุ่มที่มีผู้สมัครมากที่สุดเรียงลำดับ 1-5 เพื่อจะได้เพิ่มอีกกลุ่มละ 1 คน ซึ่งจะเป็นการกระจายส.ว.ในแต่ละกลุ่มอาชีพ และจะได้ส.ว.ครบ 200 คน จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มกราคม กรรมาธิการฯ จะมีการประชุมสรุปก่อนส่งร่างฉบับดังกล่าวนี้ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาในวันที่ 26 มกราคมนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.ระบุว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกส.ว.ไขว้ 20 อาชีพเป็นการเลือกภายในกลุ่มอาชีพ โดยจะลดกลุ่มอาชีพลงเหลือ 10-15 กลุ่มนั้น เห็นว่าการลดจำนวนกลุ่มดังกล่าวลง ทางกรธ.รับได้ หากลดลงไม่มาก แต่ยังคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มอาชีพอยู่ ซึ่ง กรธ.ยืนยันว่า แม้จะมีกลุ่มอาชีพลดลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิ ภาพของผู้ที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.ลดลง ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของ กมธ.ที่มองว่า กลุ่มมากจะทำให้คุณภาพของผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ลดลง

728x90-03-3-503x62 แต่ประเด็นที่กรธ.ให้ความเป็นห่วงมาก คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการเลือก จากเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพมาเป็นเลือกกันภายในกลุ่มอาชีพ ซึ่งกรธ. เห็นว่า วิธีเดิมที่ กรธ.เสนอเป็นแนวทางที่ป้องกันการสมยอมระหว่างผู้สมัคร หรือการป้องกันการฮั้วกันได้มากกว่าวิธีที่ กมธ.สนช.จะแก้ไขมา ซึ่งเป็นการทำลายระบบการป้องกันการสมยอมตามที่กรธ.ได้คิดมา ซึ่ง กรธ. ยืนยันว่า ไม่ได้ปิดกั้นวิธีการเลือกตั้ง ส.ว. ในรูปแบบอื่น แต่อยากได้วิธีที่รัดกุมป้องกันการฮั้วมาก กว่าที่ กรธ.เสนอ

สำหรับร่างเดิมของ กรธ. แบ่งเป็น 20 กลุ่ม กมธ.วิสามัญฯ เปลี่ยนเป็น 15 กลุ่มสังคม ประกอบด้วย 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มการศึกษา 4.กลุ่มการสาธารณสุข 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 6.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งไม่ใช่ส่วนราช การหรือหน่วยงานของรัฐ 7.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 8.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 9.กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 10.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 11.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ 12.กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ 13.กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 14.กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ และ 15.กลุ่มอื่นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9