โตโยต้า ยาริส ไมเนอร์เชนจ์ ปรับให้ดุ เพิ่มมิติความสปอร์ต

24 ม.ค. 2561 | 10:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อีโคคาร์ตัวถังแฮตช์แบ็ก รุ่นที่ขายดีที่สุดในเมืองไทย เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ออกมาอย่างน่าเกรงขาม คือปกติด้วยชื่อชั้นแบรนด์ สมรรถนะ ราคา ก็อัดคู่แข่งในกลุ่มนี้ให้กระจุยกระจายอยู่แล้ว แต่รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวยังปรับเปลี่ยนไปเยอะ จนแทบจะเกือบๆเป็นโมเดลเชนจ์เลยทีเดียว

mp33-3333-5a สำหรับ ยาริส แฮตช์แบ็ก จริงๆก็ได้อานิสงส์มาจากการเสริมทัพตัวถังซีดาน(เอทีฟ) นั่นเพราะการทำตังถังซีดานขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่น (จริงๆ ก็ใช้แพลตฟอร์ม หรือพื้นฐานทางวิศวกรรมร่วมกับ ยาริส แฮตช์แบ็ก) โตโยต้าก็ต้องลงมือลงแรง พิถีพิถันในรายละเอียดต่างๆพอสมควร

ดังนั้นเมื่อรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นใช้พื้นฐานการพัฒนาร่วมกัน ขยับปรับเปลี่ยนตัวใดตัวหนึ่ง อีกตัวก็ต้องปรับไปด้วย ผลจึงออกมาเป็น “ยาริส แฮตช์แบ็ก ไมเนอร์เชนจ์” ที่ปรับเปลี่ยนไปเยอะทั้ง รูปลักษณ์ ออพชัน และช่วงล่างการควบคุม

mp33-3333-2a ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายจุด และโตโยต้าก็ขยับราคาขึ้นทุกรุ่นย่อย 2 หมื่นบาท(ปรับตอนเปิดตัวเดือนกันยายน 1 หมื่นบาท และอีก 1 หมื่นบาทในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว) ส่งผลให้ 1.2J ECO ราคา 489,000 บาท 1.2J 539,000 บาท 1.2E 569,000 บาท และตัวท็อปที่ผมนำมาลองขับ 1.2G ราคา 619,000 บาท

ตัวท็อปก็ออพชันเยอะสุดตามสไตล์ ไล่ตั้งแต่ ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์เลนส์ พร้อมไฟ LED Light Guiding ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน Daytime Running Light แบบ LED และไฟตัดหมอกหน้า ส่วนไฟท้ายแบบ LED Light Guiding ด้านบนติดตั้งเสาอากาศแบบครีบฉลาม กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว และล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว

mp33-3333-4a ภายในจัดมาตรวัดเรืองแสงแบบ Optitron พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่อัจฉริยะMID เครื่องเล่นวิทยุ CD/ MP3/ WMA พร้อมช่องต่อ USB/AUX และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมจอ LCD พวงมาลัยหุ้มหนัง ระบบ Push Start-Smart Entry มาครบ

แต่สิ่งสำคัญที่โตโยต้าจัดมาเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกรุ่นย่อยคือ ระบบความปลอดภัยอย่าง ถุงลมนิรภัย 7 จุด รอบคัน ระบบเบรก ABS EBD BA และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC ระบบควบคุมการทรงตัว VSC และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC

mp33-3333-3a ....เดี๋ยวนี้รถเล็กๆหรือระดับ Entry Level จะไปดูเบาไม่ได้นะครับ เพราะใส่ระบบความปลอดภัยเทียบเท่ารถยนต์ราคาเกือบล้านเลยทีเดียว ซึ่งบางระบบอย่างถุงลมรอบคันจริงๆคงไม่มีใครยากใช้ครับ แต่ก็อย่างโบราณท่านว่า “มีแล้วได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี”

นอกจากนี้วิศวกรโตโยต้า ยังปรับจุดที่เรามองไม่ค่อยเห็นไปอีกพอสมควร เช่นเพิ่มฉนวนดูดซับเสียงหลายจุดรอบคัน เพื่อเน้นความเงียบภายในห้องโดยสาร ทั้งยังปรับจูนช่วงล่างและการตอบสนองของพวงมาลัยแบบผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าใหม่

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2-2-503x69 สำหรับยาริส แฮตช์แบ็ก ไมเนอร์เชนจ์ โตโยต้าจะปรับช่วงล่างให้สปอร์ตแข็งกว่า ตัวถังซีดาน “เอทีฟ” เล็กน้อย ก็ตามกลุ่มเป้าหมายที่โตโยต้าเขาสำรวจมาแล้วครับ อย่างตัวถังซีดานมักจะเป็นรถครอบครัว เน้นขับสบายๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ยาริส แฮตช์แบ็กถือเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ที่เซทช่วงล่างแบบแมกเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลงในด้านหน้า และหลังเป็นคานทอร์ชันบีม คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ได้ลงตัวในการขับขี่ เช่นเดียวกับพวงมาลัยปรับให้มีนํ้าหนักมากขึ้น แม้การบังคับควบคุมอาจจะไม่เนียนที่สุด แต่ก็ถือว่าคล่องแคล่วพอสมควร การใช้งานบนความเร็ว 100-120 กม./ชม. ยังถือพวงมาลัยได้นิ่งมือ ตัวรถไม่โหวงเหวงโคลงเคลง

เครื่องยนต์ 3NR-FE เบนซิน 4 สูบ 1.2 ลิตร Dual VVT-i ให้ประสิทธิผลเท่าเดิม คือกำลังสูงสุด 86 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ถ้าใครบอกว่าคันนี้อืดก็คงอืดด้วยกันหมดทุกรุ่นในอีโคคาร์ละครับ (เว้นมาสด้า2 ดีเซล)

แน่นอนว่าสมรรถนะไม่จัดจ้าน แต่เครื่องยนต์แค่ 1.2 ลิตรที่มาประจำการในรถตัวถังขนาดนี้ ถือว่าวิ่งดี ขับขี่สมเหตุสมผล (กับอัตราบริโภคนํ้ามัน) ใช้ในเมืองคล่องตัว จะเลี้ยว จะจอด ไม่ต้องเครียดมาก

728x90-03-3-503x62 การออกตัวไหลลื่น แต่การขับในย่านความเร็วกลางๆหากอยากให้รถพุ่งทะยาน คงต้องเข่นคันเร่งหรือใช้เกียร์ช่วยบ้าง ส่วนความเร็วปลายไปได้เรื่อยๆ ขณะที่อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่แถว 15-16 วินาที

ด้านอัตราบริโภคนํ้ามันจากการเป็นรถในโครงการอีโคคาร์ เฟส1 โตโยต้าก็เคลมไว้ตามมาตรฐานที่ 20 กม./ลิตร และการขับจริงหากวิ่งทางไกลใช้ความเร็วนิ่งๆ ระดับ 100-120 กม./ชม. ยังเห็นตัวเลข 15-16 กม./ลิตร

รวบรัดตัดความ...สมรรถนะ การขับขี่รวมๆ ผมยังชอบ “มาสด้า2” มากกว่า แต่กลุ่มลูกค้าจริงๆ ที่ซื้อรถใช้งานในเมือง (เป็นหลัก) หวังขับเรื่อยๆ สบายๆ คล่องแคล่ว พร้อมคุณภาพที่มั่นใจได้ของโตโยต้า “ยาริส ไมเนอร์เชนจ์” น่าจะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของรถในกลุ่มนี้ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9