‘เชนค้าปลีก’เร่งปรับตัว ปฏิวัติบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ลดขยะโลก

24 ม.ค. 2561 | 09:56 น.
วิกฤติขยะพลาสติกกดดันเชนค้าปลีก แมคโดนัลด์นำกระแสฟาสต์ฟูดรักษ์โลก ชูธงใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลอย่างเต็มรูปแบบภายใน 7 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเล็งใช้มาตรการทางภาษีบีบเชนร้านกาแฟแก้ปัญหาขยะถ้วยกาแฟ สตาร์บัคส์ขานรับ ผุดโครงการนำล่องชาร์จเงินเพิ่มลูกค้าที่ใช้ถ้วยแบบใช้แล้วทิ้ง

ยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟูด “แมคโดนัลด์” นำขบวนปฏิวัติการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งระบบทั่วโลก ยํ้านโยบายองค์กรสีเขียวลดการทิ้งขยะ ตั้งเป้าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นถุงใส่อาหาร กระดาษห่อ ถ้วยเครื่องดื่ม รวมถึงหลอดดูด จะมาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนภายในปี 2025 หรืออีกภายใน 7 ปี โดยแหล่งผลิตที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงโรงงานที่มีกระบวนการนำวัสดุมารีไซเคิลหรือนำมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์ภายในร้านแมคโดนัลด์ ปัจจุบัน แมคโดนัลด์ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลคิดเป็นสัดส่วนราว 10% เท่านั้น แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ภายในปี ค.ศ. 2025

TP10-3333-A ++สังคมกดดันผู้ประกอบการ
ความเคลื่อนไหวของแมคโดนัลด์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการประกาศของร้านซูเปอร์มาร์เก็ต “ไอซ์แลนด์” ซึ่งเป็นเชนค้าปลีกในอังกฤษ ที่ตั้งเป้าลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกภายในปี 2023 หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ประกาศจะใช้มาตรการขจัดขยะพลาสติกที่หลีกเลี่ยงได้ทุกรูปแบบภายในปี 2042 (พ.ศ. 2585 หรืออีก 24 ปีข้างหน้า) โดยได้เรียกร้องให้บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตจัดโซนจำหน่ายสินค้าที่ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ และดำริจะใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีจากการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถาดบรรจุอาหาร ผู้บริหารของซูเปอร์ไอซ์แลนด์เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏว่า 80% เห็นด้วยกับมาตรการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ ทางร้านยังมีแนวคิดจะรับคืนขวดพลาสติกเปล่าจากลูกค้า เพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลด้วย

ในส่วนของแมคโดนัลด์ ผู้บริหารเปิดเผยว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้ทางร้านใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “นี่คือสิ่งที่ลูกค้าร้องขอเป็นอันดับแรก” แมคโดนัลด์ยอม รับว่า จากจำนวน 37,000 สาขาที่มีอยู่ทั่วโลก หลายสาขาอาจทำตามเป้าหมายได้ยากภายในปี 2025 ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง แต่บริษัทก็มุ่งมั่นที่จะทำตามเป้านี้ให้ได้ ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษ (ที่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้น) แมคโดนัลด์บางสาขาเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นโฟมแล้ว และกว่า 1,000 สาขาได้ตั้งถังแยกขยะกระดาษและพลาสติกอย่างชัดเจนสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ ภาชนะกระดาษใส่อาหาร เช่นกล่องเบอร์เกอร์ หรือถ้วยกระดาษใส่เฟรนช์ฟรายส์ บริษัทมีมาตรการคัดสรรแหล่งซื้อที่ใช้กระดาษรีไซเคิลหรือมีใบรับรองว่ากระดาษมาจากป่าที่มาจากการปลูกทดแทนและไม่ทำลายป่าธรรมชาติภายในปี 2020

TP10-3333-1A ++รัฐบีบซ้ำด้วยมาตรการภาษี
นอกจากการตอบสนองความต้องการของสังคมแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้างยังมาจากแรงกดดันของภาครัฐด้วย เช่น กรณีของประเทศอังกฤษที่ถ้วยกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งกลายเป็นขยะปีละหลายพันล้านถ้วย รัฐบาลได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับมาตรการเก็บภาษีถ้วยประเภทนี้ใบละ 26 เพนนี เรียกว่า “ภาษีลาเต้” และหากสถาน การณ์ไม่ดีขึ้นอาจถึงขั้นห้ามใช้เด็ดขาด ทำให้เชนร้านกาแฟหลายแห่งพยายามปรับกลยุทธ์เผื่อคลายแรงบีบจากภาครัฐ เช่น สตาร์บัคส์ 25 สาขาในใจกลางกรุงลอนดอน ได้ทดลองเก็บเงินเพิ่มจากลูกค้า 5 เพนนีสำหรับรายที่ให้ร้านเสิร์ฟกาแฟในถ้วยแบบใช้แล้วทิ้ง ปัจจุบัน สตาร์บัคส์ยังเป็นเชนกาแฟรายใหญ่รายเดียวที่ใช้มาตรการเก็บเงินเพิ่มจากลูกค้า ขณะที่เชนกาแฟรายอื่นๆ นิยมใช้มาตรการให้ส่วนลดเมื่อลูกค้านำถ้วยของตัวเอง (แบบใช้แล้วล้าง แล้วใช้ได้อีก หลายครั้ง) มาใส่กาแฟที่ซื้อ

เช่นกรณีของเชนร้านคอสต้าคอฟฟี่ (Costa Coffee) และเพร็ททามานเชย์ (Pret a Manger) ที่ให้ส่วนลดถ้วยละ 5 เพนนีหากลูกค้านำถ้วยแบบใช้ได้หลายครั้งมาเอง ขณะที่เชนร้าน อีท (Eat) ประกาศใช้ถ้วยที่สลายได้เองโดยธรรมชาติ 100% อย่างไรก็ตามลูกค้าบางรายเห็นว่า บางร้านยังไม่เข้าใจแนวคิดการกำจัดขยะถ้วย เพราะยังมีการชงกาแฟใส่ถ้วยแบบใช้แล้วทิ้งแทนถ้วยตวง เพื่อเทกาแฟลงถ้วยแบบใช้หลายครั้งที่ลูกค้านำมาอยู่ดี ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างขยะทุกครั้งที่มีการซื้อเหมือนเดิม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9