กลุ่ม CK มั่งคั่งยกแผง ‘ไซยะบุรี’ เริ่มขายไฟปลายปีนี้ สถาบันไทยทยอยเก็บหุ้น CKP

19 ม.ค. 2561 | 07:55 น.
โรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรีลงทุนมา 10 ปี ใกล้ผลิดอกออกผล เพิ่มมูลค่ากลุ่ม ช.การช่าง GPSC และ EGCO โตด้วย เดินหน้าโครงการใหญ่ในสปป.ลาวต่อ สถาบันไทยดอดเข้าเก็บหุ้น CKP

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ฯ พาผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรีในสปป.ลาว และเปิดเผยว่าขณะนี้การพัฒนาโครงการมีความคืบหน้าเกือบ 90% คาดว่าจะเริ่มทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในปลายปีนี้ และจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2562 มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ โดย CKP ถือหุ้น 30% กำไรจะเติบโตชัดเจนในปี 2563 จากกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,160 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 875 เมกะวัตต์ ทำให้สถาบันในประเทศเริ่มเข้ามาลงทุนในหุ้น CKP

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าบริเวณลุ่มนํ้าโขงในเขต สปป.ลาว ที่มีขนาดกำลังการผลิตและเงินลงทุนใกล้เคียงโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี คาดว่าโครงการใหม่จะมีความชัดเจนในกลางปี 2561 และยังสนใจลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าในเมียนมา แต่อาจจะต้องรอ 5-10 ปี เพื่อดูความชัดเจนของนโยบายและกฎหมายการลงทุนในเมียนมาก่อน

MP17-3332-A สำหรับโรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี เริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ลงมือก่อสร้างได้ในปี 2555 เพราะใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและการจัดหาแหล่งเงินทุนหลายปี หลังผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาแล้ว เชื่อว่าโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในสปป.ลาว น่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็วกว่านั้น ส่วนอายุสัมปทานขึ้นอยู่กับการเจรจา

อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมา มีการลงทุนเพิ่มเติมจากงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จาก 1.1 แสนล้านบาทเป็น 1.3 แสนล้านบาท เพื่อเลือกเทคโนโลยีและระบบที่ดีที่สุดในโลก ทางรัฐบาลลาวได้ชดเชยให้บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ฯ เช่น ยืดอายุสัมปทานให้อีก 2 ปี เพิ่มเป็น 31 ปี และลดภาษีให้ส่วนหนึ่ง”นายธนวัฒน์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปีนี้ นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1,600-1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี จำนวน 1,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าโซลาร์ รูฟท็อป ขนาด 10-20 เมกะวัตต์ มูลค่า 300-400 ล้านบาท เพื่อขายไฟในกลุ่มช.การช่างและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม คาดรับรู้รายได้ในปีหน้า และงบศึกษาโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าในลาว 100-200 ล้านบาท

728x90-03-3-503x62 (1) ทางด้านผลการดำเนินงานในปี 2563 คาดว่ากำไรจะเติบโตมาก ส่วนรายได้ในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท บริษัทรับรู้รายได้โครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมบางปะอิน (โคเจเนอเรชัน) แห่งที่ 2 (BIC2) ที่มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ รับรู้รายได้ 2,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเริ่ม COD เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ส่วนรายได้ในปีที่ผ่านมาเติบโต 10% จากปี 2559 มีรายได้รวม 6,400 ล้านบาท

“เรายังคงมุ่งหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังนํ้า เพราะถูกที่สุด เวลาผลิตกระแสไฟฟ้าไม่มีเรื่องเชื้อเพลิง มีเพียงค่าใช้จ่ายเรื่องคน โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เราขายไฟให้กฟผ. 95% ในราคา 2 บาทเศษ สร้างกำไรในระยะยาวมีกระแสเงินสดสำหรับการลงทุนในโครงการต่อไป และบริษัทยังมีความสามารถในการกู้เงิน โดยปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) อยู่ที่ 0.7-0.8 เท่า

สำหรับโรงไฟฟ้า ไซยะบุรี มีทุนจดทะเบียน 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย CKP ถือหุ้นอยู่ 30%, บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ฯ(NSC) ถือหุ้นอยู่ 25% ทั้งนี้บริษัทนทีฯ มีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GPSCเป็นผู้ถือหุ้น 100% บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) ถือหุ้นอยู่ 7.5% ขณะที่ CKP มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) (CK) ถือหุ้นใหญ่ที่สุดตามด้วย บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน)หรือ TTW และ BEM ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากความสำเร็จของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9