บังคับคดีแถลงผลงานQ1เร่งดันทรัพย์กว่า3.18หมื่นล.

17 ม.ค. 2561 | 12:19 น.
กรมบังคับคดีแถลงผลงานไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2561 สามารถเร่งผลักดันทรัพย์สินได้กว่า 31,806 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีให้กับลูกหนี้สำเร็จไปแล้วกว่า 2,700 รายและดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

วันนี้ ( 17 มกราคม 2561 )นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยกรมบังคับคดีได้เน้นการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล นโยบายและหลักการบริหารงานที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และการดำเนินงานที่ “เป็นธรรม ง่าย สะดวก และรวดเร็ว” รวมถึงมุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาไปสู่ LED-Thailand 4.0 สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีดังนี้

1. ด้านการเสริมสร้างสภาพคล่องและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้ดำเนินการตามแผน “2 เร่ง” คือ เร่งรัดการประชุมกำหนดราคาทรัพย์ และเร่งรัดการประกาศขายทอดตลาด เพื่อเร่งผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดี ในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้เป็นเงินจำนวน 31,806,446,877 บาท คิดเป็นร้อยละ 28.91 ของเป้าหมายจำนวน 110,000,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 6.13
pew1 2. ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์การไกล่เกลี่ย “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” และได้ประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่และจัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 2,793 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.32 ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2560 พบว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คิดเป็นร้อยละ 25.10  ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย ช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ลดการถูกบังคับคดี และทำให้เกิดความสมานฉันท์สามัคคีในสังคม กรมบังคับคดีได้ร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล

3. ด้านการบริหารการจัดการคดี (Case Management) ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดการคดี เพื่อให้การบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลาย มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนการเร่งรัดสำนวนคดีค้างดำเนินการ 10 ปี ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถดำเนินการได้จำนวน 275 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.37 ของคดีที่ค้างอยู่จำนวน 11,679 คดี

4.ด้านการทำบัญชีรับ-จ่าย ได้ให้ความสำคัญในการทำบัญชีรับ-จ่ายให้มีความรวดเร็ว โดยได้กำหนดแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 โดยกำหนดให้มีการทำบัญชีรับ-จ่ายสำหรับสำนวนไม่มีเหตุขัดข้องให้ทำบัญชีภายใน 45 วัน สำหรับคดีที่ไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน

5.ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่จำเป็นและเกี่ยวกับการบังคับคดี ได้กำหนดให้การสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเป็นนโยบายดำเนินการเชิงรุก โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มหนี้ครัวเรือน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมุ่งเน้นความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับคดี การกู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง ขายฝาก วางทรัพย์ และสร้างวินัยทางการเงิน (โครงการเสริมสร้างสุขภาพทางการเงิน) ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถจัดอบรมให้กับประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 11,841 คน

6.ด้านการบูรณาการทำงานและการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีในคดีแพ่งของศาลในเขตกรุงเทพมหานคร และมีแผนการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับศาลทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในคดีล้มละลาย และคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และในเรื่องการศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมองค์กร

pew

นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม 2561 กรมบังคับคดีมีกำหนดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูล จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในวันที่ 23 มกราคม 2561 เพื่อความร่วมมือในการตั้งเรื่องบังคับคดีโดยช่องทางด่วน (Fast Track) การกำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดี การจัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี และการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลาย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในวันที่ 30 มกราคม 2561 เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลาย

7.ด้านพัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้พัฒนาระบบแอพพลิเคชัน “LED ABC” เพื่อให้บริการประชาชน สำหรับการตรวจรายชื่อบุคคลล้มละลาย โดยได้เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 โดยมีผู้เข้ามาดาวน์โหลดแล้วจำนวน 446 ราย และมีระดับความพึงพอใจ 3.00 จาก 5.00 และพัฒนาระบบลงนัดล่วงหน้าสำนวนคดีแพ่งเป็นครั้งแรก เพื่อให้คู่ความในคดีมีความสะดวกในการติดต่องานบังคับคดีมากขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และในประกาศขายทอดตลาดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กรมบังคับคดีได้เชื่อมโยงกับ LAND MAP กับกรมที่ดิน เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์สามารถดูรูปภาพที่ดินและที่ตั้งของที่ดินได้ชัดเจนมากขึ้น เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2561

8.ด้านการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย มีมาตรฐานสากล และให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามที่กรมบังคับคดีได้มีการเสนอร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบกระทรวงในปีงบประมาณ 2560 ในไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีความคืบหน้าดังนี้ ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... (ส่วนการล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. .... อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
728x90-03-3-503x62 (1) อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเพิ่มเติมถึง แผนการจัดโครงการมหกรรมขายทอดตลาดทรัพย์สินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจจังหวัดภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลักดันทรัพย์สินออกจากกระบวนการบังคับคดี เสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการของกรมบังคับคดีด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

โดยทรัพย์ที่จะประกาศขายเป็นทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ได้แก่ ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด จำนวนทั้งสิ้น 342 คดี รวม 422 รายการ ราคาประเมิน 1,722,007,994.73 บาท โดยแยกเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 283 คดี รวม 297 รายการ ราคาประเมิน 644,397,562.63 บาท ที่ดินว่างเปล่า จำนวน 26 คดี รวม 81 รายการ ราคาประเมิน 974,332,825 บาท ห้องชุด จำนวน 33 คดี รวม 44 รายการ ราคาประเมิน 103,277,607.10 บาท

โดยมีกำหนดวันขายทอดตลาด นัดที่ 1 ในวันที่ 17 มีนาคม 2561 และนัดที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2561 ณ ห้องแปซิฟิค ฮอล์ ศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จังหวัดชลบุรี สำหรับนัดที่ 3 ในวันที่ 24 เมษายน 2561 และนัดที่ 4 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ณ สำนักงานบังคับคดีที่ตั้งทรัพย์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62