‘คลื่น2300’รอปั๊มหัวใจ‘ดีแทค’

13 ม.ค. 2561 | 13:30 น.
แม้ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้บรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญาร่วมธุรกิจอย่างเป็นทางการกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนรายปี 3,900 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาปี 2568

เป็นสัญญาณเหมือนใบเบิกทางให้ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จะได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจการค้ากับ ทีโอที บนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์เช่นเดียวกัน

[caption id="attachment_247826" align="aligncenter" width="335"] พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ[/caption]

++ทางยังไม่โล่ง
หากถอดรหัสคำพูดของ2 บิ๊กกสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ทั้ง พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองกรรมการ กสทช. และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาให้สัมภาษณ์ไปในแนวทางเดียวกันว่า “บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติให้ ทีโอที นำคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ และให้ปฏิบัติตามมาตรา 46 อนุมัติให้ ทีโอที ทำรายเดียวแต่รูปแบบนี้มันจะเหมือนกับ BFKT (หมายเหตุ : บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเช่าโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 3 จี ด้วยเทคโนโลยีเอสเอชพีเอ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิตรซ์)”

การออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีนัยสำคัญอะไรบางอย่างเพื่อส่งสัญญาณถึง ทีโอที กับ ดีแทค หรือไม่

MP20-3330-A ++บิ๊กทีโอทียันคนร.ไฟเขียว
ขณะที่ทาง ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ได้ออกมาเปิดเผยหลังจากเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรธุรกิจทางการค้ากับ เอไอเอส บนย่านความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการ นโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีนโยบายให้ ทีโอที เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจโดยการใช้ทรัพย์สินเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด คณะกรรมการ บมจ. ทีโอที จึงได้มีมติให้ลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ กับบริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งได้แก่ สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Roaming) ระยะเวลาสัญญาจนถึงปี 2568 เช่นเดียวกับกรณีคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่ล่าสุด กสทช. อนุมัติให้ ทีโอที ใช้คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ได้

[caption id="attachment_208619" align="aligncenter" width="503"] มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)[/caption]

เหตุผลที่ทาง ทีโอที ร่วมเป็นพันธมิตร กับ ดีแทค นั้นเป็นรูปแบบเดียวกันกับ เอไอเอส คือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงข่าย ซึ่งทีโอทีมีแผนที่จะใช้งานความจุของโครงข่าย 20% เพราะมีฐานลูกค้าเพียง 1 แสนราย และความจุโครงข่ายที่เหลืออีก 80% ทีโอที จะสำรองไว้เพื่อให้บริการแก่พันธมิตรในรูปแบบการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (โรมมิ่ง) ซึ่งลูกค้าทีโอทีจะได้รับประโยชน์คือสามารถใช้งานได้ทั้งบนคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ นั่นทำให้ทีโอทีมีสถานีฐานเพื่อให้บริการลูกค้ากว่า 4 หมื่นแห่ง

++นักวิชาการชี้ทำได้
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ในกระบวนคัดเลือกพันธมิตรหรือคู่ค้าที่จะมาร่วมลงทุนให้บริการบนคลื่น 2300 ของ ทีโอที หากย้อนไปดูก็จะพบว่ามีบริษัทเอกชนหลายรายที่สนใจและเข้ายื่นข้อเสนอ รวมถึง เอไอเอส และ ทรู ทั้งนี้แต่ละรายคงให้ข้อเสนอหรือผลตอบแทนกับ ทีโอที ในช่วงระยะเวลา 7 ปี ที่จะสามารถใช้คลื่นได้ก่อนปี 2568 ที่แตกต่างกันไป ทีโอที คงพิจารณาแล้วว่ารายใดให้ผลตอบแทนมากและน่าสนใจที่สุด

[caption id="attachment_217955" align="aligncenter" width="335"] สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ[/caption]

ส่วนกรณีคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ยังเป็นคลื่นที่ ทีโอที ถือสิทธิ์ในการใช้คลื่นอยู่แต่เดิมซึ่งมีมาก่อนมี พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และก่อนมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทั้งนี้สิทธิ์ดังกล่าวให้ ทีโอที สามารถใช้คลื่นได้ถึงปี 2568 โดยก่อนหน้านี้ ทีโอที ได้จัดทำแผนการใช้คลื่น 2300 เพื่อนำเทคโนโลยี LTE เข้ามาใช้แทน รวมถึงรูปแบบการหาพันธมิตรหรือคู่ค้าในการร่วมธุรกิจ และ บอร์ด กทค. เคยอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการได้

ในเมื่อ เอไอเอส ได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ ทีโอที ไปเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับ “ดีแทค”

รอลุ้นต่อไปว่า “ดีแทค” จะได้เซ็นสัญญาคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์กับ “ทีโอที” หรือไม่ ช่วงนี้แม้จะโล่ง แต่ก็ยังบีบหัวใจ “ดีแทค” อยู่ดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9