คลื่น2300ฉาว DTACหืดจับ

12 ม.ค. 2561 | 06:34 น.
วงการโทรคมนาคมกังขาเปลี่ยนรูปแบบเซ้งคลื่นจำแลง กรณีทีโอทีจับมือเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับดีแทค บริหารคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์จนถึงปี 2568 บิ๊กทีโอทีแจงทำตาม นโยบาย คนร. ลั่นไม่ได้โอนคลื่นให้ แถมเหมือนกรณีเซ็นสัญญากับเอไอเอสเป็นพันธมิตรคลื่น 2100

พลันที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จับมือเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีทีเอ็น บริษัทย่อยของดีแทค ให้บริหารคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์จนถึงปี 2568 จ่ายรายได้ต่อปีจำนวน 4,510 ล้านบาท เกิดแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมว่าเหมาะสมหรือไม่ ทำได้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดีแทคพยายามดิ้นรนหาหลักประกันคลื่นเพื่อบริหารต่อ เนื่อง จากคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 และ กสทช.มีแผนนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์เปิดประมูลใหม่

“หลังหมดสัญญาสัมปทาน ดีแทคมีคลื่นเหลืออยู่ 1 ย่านความถี่ นั่นก็คือ ย่านความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งจะถูกบีบให้แข่งขันเข้าประมูลในราคาสูง หากต้องการอยู่ในอุตสาหกรรมมือถือต่อไป จึงถูกมองว่าการไปได้คลื่นของ ทีโอที เป็นการสร้างหลักประกันดีแทค ในระยะยาว และลดแรงกดดันประมูลคลื่นในครั้งใหม่”

มีประเด็นกังขาดีลนี้ของ ทีโอที และ ดีแทค ทำได้หรือไม่ เพราะคลื่นนี้ได้สิทธิ์จาก กสทช.และเอามาให้คู่ค้าดำเนินการต่อ ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นต้องใช้วิธีประมูลคลื่นราคาจึงสูงกว่า

[caption id="attachment_216507" align="aligncenter" width="503"] นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บอร์ด กสทช.ได้ทำการอนุมัติให้ ทีโอที นำคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ และให้ปฏิบัติตามมาตรา 46 ตาม (ดีแทค สร้างโครงข่าย ทีโอที บริหารขาย Capacity) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2560

“บอร์ดอนุมัติให้ ทีโอที ทำรายเดียวแต่รูปแบบนี้มันจะเหมือนกับ BFKT (หมายเหตุ: บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเช่าโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 3 จี ด้วยเทคโนโลยีเอสเอชพีเอ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิตรซ์) เรื่อง นี้ต้องคุยยาวๆ” นายฐากร กล่าว

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ต่อข้อถามที่ว่า ทีโอที เปลี่ยนรูปแบบจากระบบสัมปทานเป็นคู่ค้าธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่ “เขายังไม่เริ่มทำเราก็พูดอะไรไม่ได้”

[caption id="attachment_247826" align="aligncenter" width="335"] พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ[/caption]

ด้านแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มองว่า การให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้ามาเป็นคู่ค้าธุรกิจ จากเดิมที่ให้ในระบบสัมปทานเสือนอนกิน ต้องยอมรับว่ารูปแบบการลงทุนแบบร่วมทุนหรือคู่ค้าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแค่ชื่อเรียกแต่เนื้อในยังเป็นสัมปทานเซ้งคลื่นจำแลง

++ทีโอทีลั่นทำตาม คนร.
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ชี้แจงว่า การที่ กสทช. อนุมัติให้ทีโอทีใช้คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ได้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีนโยบายให้ ทีโอทีเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจโดยการใช้ทรัพย์สินเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับที่บอร์ดทีโอที ได้มีมติให้ลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ กับบริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งได้แก่ สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Roaming) ระยะเวลาสัญญาจนถึงปี 2568 เช่นเดียวกัน

[caption id="attachment_140557" align="aligncenter" width="347"] มนต์ชัย หนูสง มนต์ชัย หนูสง[/caption]

“ลูกค้าทีโอทีจะได้รับประโยชน์คือสามารถใช้งานได้ทั้งบนคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ นั่นทำให้ทีโอทีมีสถานีฐานเพื่อให้บริการลูกค้ากว่า 4 หมื่นแห่ง”

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า มีบริษัทเอกชนหลายรายที่สนใจและเข้ายื่นข้อเสนอ ทีโอทีคงพิจารณาผลตอบแทนที่ดีที่สุด ส่วนกรณี 2300 เมกะเฮิรตซ์ ยังเป็นคลื่นที่ ทีโอที ถือสิทธิ์ในการใช้คลื่นอยู่แต่เดิม มีมาก่อนมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และก่อนมี กสทช.

[caption id="attachment_235627" align="aligncenter" width="503"]  เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ[/caption]

++สคร.ให้อำนาจทีโอที
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เปิดคลื่นในเวทีสาธารณะ เนื่องจากทีโอทีมีข้อพิพาทกันมาก่อน เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์ในเสาส่งสัญญาณว่าสิทธิ์จะเป็นของใคร แล้วใครจะเป็นผู้ให้เช่า ซึ่งกรณีแบบนี้ใช้กับทรูด้วย

ส่วนกรณีที่ยังไม่เซ็นสัญญาในไตรมาส 4 ที่ผ่านมานั้น สคร.เพิ่งรับทราบ เนื่องจากปกติ ทีโอที ไม่ต้องรายงานมาที่สคร. เป็นเรื่องของบอร์ดทีโอที ซึ่งสคร.ไม่ได้ท้วงติงอะไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9