โฉมหน้าใหม่มังกรจีน จากโรงงานโลกสู่‘ผู้บริโภคอำนาจสูง’

07 ม.ค. 2561 | 07:45 น.
ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนกำลังขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์-งานวิจัย การทหาร รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งจีนก็ทำได้ดีตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (ซีอีบีอาร์) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้พยากรณ์ว่า ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่แซงหน้าสหรัฐอเมริกาภายในปี 2032 โดยมีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจีนเองที่เป็นตัวแปรหรือเป็นหัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญ

++เศรษฐกิจในมือผู้บริโภค
เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากที่เคยขยายตัวในระดับกว่า 10% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (12.6 % ในปี 2006) สู่ระดับ 6-7% ในปัจจุบัน แต่รายได้ประชาชาติก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน ผู้บริโภคชาวจีนมีอำนาจซื้อสูงขึ้น จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัท แมคคินซีย์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 หรืออีกเพียงราว 2 ปีข้างหน้า จีนจะมีจำนวนผู้บริโภคกระแสหลัก (mainstream consumers) หรือผู้คนที่มีรายได้ครัวเรือนระหว่าง 16,000-34,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จำนวนเกือบๆ 400 ล้านคน พวกเขาเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจีนที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปมาก จากอดีตที่มีภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกครองสัดส่วนเกินครึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่ปัจจุบันการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวจีนเองคือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต หรือคิดเป็น 63.4% ของจีดีพี มูลค่าธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศจีนขยายตัวในอัตรา 10% ในปีที่ผ่านมา (2017)

อำนาจซื้อของผู้บริโภคเหล่านี้ไม่เพียงเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีผลช่วยขับดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย สำนักวิจัยยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่า นับจากนี้ถึงปีค.ศ. 2030 ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคโดยรวมทั่วโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นจะมีการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนเป็นแรงกระตุ้นใหญ่ที่สุด ทุกวันนี้ ในบรรดาประเทศทั้งหมดที่เป็นคู่ค้าของจีน จีนมีสถานะเป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกใหญ่ที่สุดของ 43 ประเทศ เทียบกับสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของ 32 ประเทศคู่ค้าเท่านั้น

TP10-3329-A ++ทุบสถิติช็อปปิ้งออนไลน์
ในอดีตเราอาจมองว่า จีนคือ “โรงงานของโลก” แต่ทุกวันนี้ถ้าเราปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่มองว่าจีนเป็น “ผู้บริโภคของโลก” น่าจะเหมาะสมกว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ของจีนพร้อมจะจับจ่ายใช้สอยในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นร้านค้าทั่วไป (ออฟไลน์) ร้านค้าออนไลน์ หรือทางอุปกรณ์พกพา (โมบาย) สินค้าที่ซื้อก็ไม่ใช่สินค้าทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่เป็นสินค้าที่แสดงถึงความสนใจที่กว้างขวาง และสะท้อนสถานะที่มีทั้งกำลังซื้อและความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ สินค้าแบรนด์ เนม สินค้าคุณภาพพรีเมียมจากต่างประเทศ (เนื่องจากชาวจีนจำนวนมากไม่ไว้วางใจคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเอง) การดูหนังฟังเพลง การเดินทางท่องเที่ยว หรือบริการด้านสุขภาพและความงาม การบริโภคในครัวเรือนของจีนมีมูลค่าขยับสูงถึงระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วในปีที่ผ่านมา ยอดขายในธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และปรากฏการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่าวันคนโสด (Singles’ Day) ยอดการจับจ่ายสินค้าออนไลน์ของชาวจีนก็พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในวัน Black Friday (วันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับปลายเดือนพฤศจิกายน) เกือบๆ 2 เท่าตัว ตลาดจีนจึงเป็นขุมทองที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ผลิตสินค้าจากทั่วโลก แต่แน่นอนว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้นของจีน ต้องการสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย คุณภาพเยี่ยม และพวกเขามักจะเปรียบเทียบราคาพร้อมอ่านรีวิวสินค้ามาล่วงหน้าแล้วจากช่องทางโซเชียลมีเดียที่พวกเขาชื่นชอบ

++พลังซื้อเพื่อสุขภาพที่ดี
ยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หรืออีกราว 12 ปีข้างหน้า จีนจะมีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 345 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับปี 2013 นั่นหมายถึงโอกาสทองเปิดแล้วสำหรับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ อาทิ สินค้าเพื่อสุขภาพ บริการสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการในกลุ่มนี้จะมีการเติบโตมากกว่าสินค้าและบริการในกลุ่มอื่นๆ และท่ามกลางบริบทที่โรงพยาบาลในจีนเองไม่สามารถให้บริการตอบโจทย์ความต้องการได้เพียงพอ งานวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยชาวจีนที่มีรายได้สูง ต่างยินดีจะเดินทางออกไปรับบริการด้านการแพทย์ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และอังกฤษ มากขึ้นเรื่อยๆ และจากแนวโน้มดังกล่าว โอกาสจึงเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการด้านสุขภาพจากต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดจีนด้วย ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ (เพอเรนเนียล เรียล เอสเตท โฮลดิ้ง) ประกาศแผนจะเข้าไปลงทุนสร้างศูนย์บริการสุขภาพ 20-40 แห่งทั่วประเทศจีน นอกจากนี้ จีนยังเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าเวชภัณฑ์ ยา และบริการเพื่อสุขภาพสำหรับหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน

จากปัญหาอาหารปนเปื้อนสารพิษและคุณภาพตํ่ากว่ามาตรฐานซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันเลือกเฟ้นและคัดสรรสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพมากขึ้นเมื่อเทียบคนรุ่นก่อนๆ พวกเขายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่า “ชีวิตที่ดีเพราะสุขภาพดี” กลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่มาแรงแซงทุกโค้ง คลาสสอนโยคะได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และ “จักรยาน” ที่อดีตเป็นเพียงพาหนะสำหรับคนรายได้น้อย ปัจจุบันกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ในฐานะสัญลักษณ์ของคนจีนยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9