‘ออมสิน-ธพว.’ใส่เงินอุ้ม SME จัดให้ 1.3 แสนล้านช่วยทุกกลุ่มทางตรงทางอ้อม

06 ม.ค. 2561 | 02:22 น.
ธนาคารรัฐขานรับนโยบายขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ตามคำสั่งรองนายกฯสมคิด ด้านออมสินเล็งเพิ่มวงเงิน 4 หมื่นล้านปีหน้าช่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ ธพว. เตรียมขออนุมัติ ครม. สนับสนุนเงินอีก 8 หมื่นล้าน

จากการประชุมนโยบายขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมาตรการพิเศษช่วยส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีในรูปแบบต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือด้านการเงิน การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงความรู้ เข้าถึงตลาด เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน หนึ่งในมาตรการที่รองนายกฯ ได้สั่งการก็คือให้ธนาคารรัฐทุกแห่งเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี

[caption id="attachment_246785" align="aligncenter" width="335"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ชาติชาย พยุหนาวีชัย[/caption]

ต่อเรื่องนี้นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารเตรียมเพิ่มศูนย์ให้บริการสินเชื่ออีก 64 แห่งให้เป็น 82 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในปี 2561 จากเดิมที่มีอยู่ 18 แห่ง เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงิน และช่วยเพิ่มกระแสเงินสด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศไทยในแง่ของการผลักดันเศรษฐกิจผ่านเอสเอ็มอีโดยปี 2561 ธนาคารต้องการเพิ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องปล่อยสินเชื่อใหม่ 7-8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อเพิ่มสุทธิเป็น 4 หมื่นล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินที่ใส่ลงไปในระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ยังมีการให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีรายได้ปานกลาง เช่น สินเชื่อบ้านซึ่งธนาคารมีวงเงินอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ 3 แสนล้านบาท โดยมีผู้ที่ชำระคืนมาได้แล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท ธนาคารก็จะนำวงเงินที่ได้รับการชำระเงินคืนดังกล่าวนี้มาปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้ปานกลางได้กู้ไปใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน ลูกค้าสามารถกลับมากู้ในส่วนที่ชำระคืนไปแล้วได้ 100% ของยอดที่ชำระมา

“วงเงิน 1.3 แสนล้านบาทที่ชำระแล้วกลับมากู้เราสัก 30% ก็จะเป็นเงินประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ที่จะมีเม็ดเงินให้ผู้มีรายได้ปานกลางกลับไปจับจ่ายใช้สอยแล้วทำให้เอสเอ็มอีดีขึ้น ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อทางอ้อมให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีการผ่อนบ้านมาระยะหนึ่งต้องปรับปรุงบ้าน ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจเอสเอ็มอีก็จะได้ผลพลอยได้ไปด้วย โดยเราก็จะทำหลายทางทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งฝั่งดีมานด์เราพยายามสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นในตลาด เนื่อง จากปัจจุบันหากมีการลงทุนแต่ไม่มีคนซื้อของก็จะไม่สามารถทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตได้ ดังนั้น เราต้องเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ซื้อไปในตัว”

อย่างไรก็ดี ล่าสุดธนาคารได้ดำเนินโครงการสินเชื่อสำหรับธุรกิจแฟรนไชว์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยตั้งเป้าจะปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายเล็กที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอีจะให้กู้ 1-10 ล้านบาท โดยจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะไปผนวกรวมทำให้สินเชื่อที่จะไปสร้างเอสเอ็มอีหน้าใหม่ได้เกิดขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ ธนาคาร ยังจะดำเนินการเรื่องของการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสินเชื่ออีกประมาณ 300-400 อัตรา เพื่อรองรับการให้สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีตอบรับมาตรการของรองนายกฯ ภายในไตรมาส 1/61

“ปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีให้ได้ 5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 40-50% ของสินเชื่อโดยรวมของธนาคาร ส่วนการบริหารความเสี่ยงนั้น หากเป็นการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีก็จะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ โดยหากเป็นโครงการที่เป็นการช่วยเหลือผ่านรัฐบาลและมีความเสี่ยงเพิ่ม รัฐบาลจะมีการชดเชยเงินต้นให้ ก็จะทำให้ธนาคารรับความเสี่ยงได้มากขึ้น”

นายชาติชาย กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เอสเอ็มอีได้รับวงเงินสินเชื่อนั้น อันดับแรกจะต้องมีการปรับปรุงงบการเงินให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด โดยใช้ระบบบัญชีเดี่ยวที่ยื่นกับกรมสรรพากรเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจะมีการประกาศบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 นอกจากนี้หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ได้รับการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น

[caption id="attachment_246783" align="aligncenter" width="335"] มงคล ลีลาธรรม มงคล ลีลาธรรม[/caption]

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) กล่าวว่า ธนาคารจะมีการดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การปรับปรุงและยกระดับความสามารถองค์กรให้ครอบคลุมบริการไปยังเศรษฐกิจชุมชน และฐานราก โดยการเพิ่มจำนวนบุคลากร และพัฒนาระบบดิจิตอลแบงกิ้ง

และ 2. มาตรการทางด้านการเงิน ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก โดยธนาคารจะดำเนินการเพิ่มเติมจากกองทุนพลิกฟื้น และกองทุนฟื้นฟูของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีวงเงินอยู่แล้ว 3 พันล้านบาท 2.เศรษฐกิจชุมชน โดยจะเป็นกลุ่มของเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน และ 3. ทรานส์ฟอร์เมชันอัพเกรด เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และอุปกรณ์ภายในโรงงาน โดยทุกมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะใช้วงเงินอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท การดำเนินการของธนาคารคาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ประมาณ 7 หมื่นราย โดยจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 3 แสนคน

โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ราว 5% ของพอร์ตสินเชื่อ ก็ได้มอบนโยบายให้เพิ่มเป็น 10% ขณะที่สั่งการให้ ธพว. เพิ่มวงเงินปล่อยกู้เอสเอ็มอีจาก 70,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท รวมทั้งให้ธนาคารกรุงไทยเพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี จากเดิม 4 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท โดยรองนายกฯสมคิดย้ำว่า มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องให้มีความคืบหน้าภายใน 3 เดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9