ผู้ถือหุ้นกู้-รายย่อย IFEC ฟ้อง "ก.ล.ต." ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

20 ธ.ค. 2560 | 09:06 น.
ผู้ถือหุ้นกู้-รายย่อย IFEC ยื่นฟ้องอาญา มาตรา 157 สำนักงาน ก.ล.ต.ฐานละเว้นจัดการบอร์ดกำมะลอ ปล่อยผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้หุ้นกู้ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ชี้ชัดใช้วิธีออกเสียงแบบ Cumulative voting ผิดข้อบังคับ-พ.ร.บ.มหาชน พร้อมจี้ ก.ล.ต. สั่ง “ศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์” ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย “คืนอำนาจผู้ถือหุ้น” จัดประชุมวิสามัญเลือกบอร์ดชุดใหม่ให้ครบองค์ประชุม เร่งแก้ปัญหาสถานะการเงิน ฟื้นความเชื่อมั่น เคลียร์หนี้ เพื่อทำให้หุ้น กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้ง

- 20 ธ.ค. 60 - นายสุรกิต ทองดี ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นกู้และนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้นไอเฟค ได้ยื่นฟ้องอาญา มาตรา 157 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ข้อหาหรือฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หลังจาก ก.ล.ต.ไม่ยอมจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ออกมายืนยันว่าการใช้วิธีการลงคะแนนแบบสะสม (Cumulative voting) ในการเลือกกรรมการของไอเฟค ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ผิดข้อบังคับของบริษัท และผิดพ.ร.บ.มหาชน ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มาเป็นเวลานานนับปี โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 16 มกราคม 2561

“ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงาน ก.ล.ต. มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-ธันวาคม 2560 เพื่อร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค ไล่เรียงตั้งแต่การผิดชำระหนี้ตั๋วบี/อี หุ้นกู้ จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามการซื้อขายหุ้นชั่วคราว (ขึ้นเครื่องหมาย SP) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการทุกเดือน และได้รับเงินจากการแปลงวอร์แรนต์ (IFEC-W1) แต่ไม่สามารถคืนหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้ และมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้วงเงิน 3 พันล้านบาท แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

ขณะเดียวกันกรรรมการของไอเฟค ที่เหลืออยู่ ซึ่งมีจำนวนไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้มีการทำธุรกรรมนำหุ้นของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไอเฟค ถือหุ้น 51% ในโรงแรมดาราเทวี คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ไปจำนำค้ำประกันการชำระหนี้ตั๋วบีอี ที่มีจำนวนเพียง 100 ล้านบาท ในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ทั้งที่คณะกรรมการบริษัทฯ ไม่มีอำนาจกระทำการได้ และปล่อยให้ตั๋วบี/อี ผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้ง ยังได้ทำธุรกรรมกู้ยืมเงินจากบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เป็นเงิน 50 ล้านบาท พร้อมกับนำหุ้นบริษัทไอเฟค ที่ถืออยู่ในบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด ไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ซึ่งคณะกรรมการไม่เคยรายงาน หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ซึ่งหากถูกบังคับจำนำ ย่อมทำให้ไอเฟค ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

นอกจากการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกรณีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ (โรงไฟฟ้าที่กัมพูชา) ปรากฏหลักฐานว่า เป็นการลงทุนในมูลค่าที่เกินกว่าความเป็นจริง และไม่ปรากฏว่าบริษัทมีรายได้จากการนำเงินไปลงทุนดังกล่าว ทั้งยังเกิดกรณีปัญหาการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ส่อไปทางทุจริตในบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไอเฟค มีกรณีการกล่าวอ้างว่าหนี้ของบริษัทโรงแรมดาราเทวี จำกัด จำนวนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่มีนัยสำคัญของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นหนี้ปลอม

“ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค รายย่อยเห็นว่า ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ควรทำหน้าที่ของตัวเอง ในการสั่งการให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการที่ได้มาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย และไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น) คืนอำนาจให้กับผู้ถือหุ้น โดยการจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เลือกกรรมการชุดใหม่ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาสถานะทางการเงินของไอเฟค คืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตั๋วบี/อี เร่งตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นในไอเฟค และทำให้หุ้นของไอเฟคกลับเข้ามาซื้อขายได้อีกครั้ง หลังจากโดนแช่แข็งมานานกว่า 1 ปี” ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟค กล่าว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9